รีเซต

ภารกิจทำลายดาวเคราะห์น้อยก่อให้เกิดเศษซากกว่า 37 ชิ้น !

ภารกิจทำลายดาวเคราะห์น้อยก่อให้เกิดเศษซากกว่า 37 ชิ้น !
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2566 ( 12:43 )
64
ภารกิจทำลายดาวเคราะห์น้อยก่อให้เกิดเศษซากกว่า 37 ชิ้น !

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2022 ยานอวกาศดาร์ท (DART) ภายใต้ภารกิจดาร์ท (DART Mission) ของนาซา (NASA) ได้พุ่งชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เพื่อทดสอบการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยด้วยการใช้ยานอวกาศพุ่งชน ซึ่งจะถูกใช้เพื่อปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอนาคต


ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) 

โดยในตอนนั้นกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้จับภาพเหตุการณ์ไว้ได้ ซึ่งต่อมาในภายหลัง ทีมนักดาราศาสตร์ได้นำภาพดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ และเผยแพร่ผลการศึกษาลงบนวารสารด้านดาราศาสตร์อย่างเดอะ แอสโตรฟิสิคัล เจอร์นัล เลทเลอร์ (The Astrophysical Journal Letters) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา


ในรายงานข้างต้นระบุว่าการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสของยานอวกาศดาร์ท ก่อให้เกิดเศษซากอย่างน้อย 37 ชิ้น คิดเป็น 0.1% ของมวลดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสที่มีนำ้หนัก 5.5 ล้านตัน ซึ่งเศษซากทั้งหมดอาจจะมีเศษซากของยานปะปนอยู่ด้วย โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.9 - 6.7 เมตร และมีความเร็วเฉลี่ย 0.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยนาซาเคยชี้ว่ามันมีความเร็วพอ ๆ กับเต่ายักษ์ 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเศษซากเหล่านี้จะโคจรไปในทิศทางใดต่อ จึงจำเป็นต้องทำการติดตามเศษซากเหล่านั้นเพิ่มเติม 


ยานอวกาศดาร์ท (DART) 

สำหรับยานอวกาศดาร์ทมีน้ำหนักอยู่ที่ 550 กิโลกรัม และมีมูลค่าสูงถึง 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท มาพร้อมเซ็นเซอร์, เสาอากาศ, ไอออนขับดันและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยาว 8.5 เมตร จำนวน 2 ชุด 

ซึ่งวัตถุประสงค์ในการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสก็เพื่อให้มันเปลี่ยนวิถีการโคจร และเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยดิดิมอส (Didymos) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่ใหญ่กว่า โดยทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อทดสอบวิธีการเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งนาซาจะนำวิธีนี้มาใช้ในอนาคตสำหรับปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอวกาศ


ข้อมูลจาก livescience

ภาพจาก NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง