รีเซต

“ขยะอวกาศ” ภัยคุกคามใหม่นอกโลก ความท้าทายเทคโนโลยีอวกาศโต

“ขยะอวกาศ” ภัยคุกคามใหม่นอกโลก ความท้าทายเทคโนโลยีอวกาศโต
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2566 ( 16:52 )
156
“ขยะอวกาศ” ภัยคุกคามใหม่นอกโลก ความท้าทายเทคโนโลยีอวกาศโต

เมื่อไม่นานนี้จีนเพิ่งทุบสถิติภารกิจอวกาศ 25 ครั้งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยไม่ประสบความล้มเหลวใดๆ เลย รวมถึงสร้างสถิติใหม่ในการปล่อยดาวเทียมจำนวนหลายดวงด้วยจรวดขับดันเพียงครั้งเดียว เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมอวกาศจีนตอนนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด ดาวเทียมจีนในห้วงอวกาศเพิ่มเป็นหลายร้อยตัว รวมถึงดวงล่าสุดที่ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมาเป็นการส่งดาวเทียมทดลองอินเทอร์เน็ต ด้วยจรวดลองมาร์ช-2ซี ขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ


 


ปัจจุบัน จีนมีดาวเทียมเชิงพาณิชย์กว่า 350 ดวงที่โคจรอยู่ในอวกาศ และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จีนยังมีแผนจะปล่อยยานเสินโจว-17 พร้อมด้วยนักบินอวกาศ และดาวเทียมอีกหลายดวง รวมถึงยานอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ภารกิจอวกาศของจีนในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเกือบ 70 ครั้ง

 

ข้ามฟากไปที่เอกชนอย่าง “สเปซเอ็กซ์” ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีดาวเทียมสตาร์ลิงก์อยู่ในวงโคจรโลกเกือบ 5 พันดวง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ยังเปิดตัวดาวเทียมอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ชุดใหม่48 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดฟาลคอน 9



 

ตามรายงานของนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์และนักติดตามดาวเทียม ระบุว่า สเปซเอ็กซ์ได้รับการอนุมัติให้ติดตั้งดาวเทียมอินเทอร์เน็ตประมาณ 12,000 ดวงในวงโคจรต่ำของโลก และได้ยื่นขออนุญาตอีก 30,000 ดวง


“สงครามอวกาศ” สนามแข่งขันประเทศผู้นำโลก

 

ดอกเตอร์สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDAฉายภาพการที่หลาย ๆ ประเทศหันมาพัฒนากิจการด้านอวกาศ ด้วยเหตุผล 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ เหตุผลทางเศรษฐกิจ และ เหตุผลด้านความมั่นคง ปลอดภัย




“เทคโนโลยีอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นเทคโนโลยีที่ปกปิด หมายความว่า ไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงมาก ๆ เฉพาะปีค.ศ. 2022 หรือ พ.ศ.2565 สูงถึง 464 ล้านเหรียญสหรัฐขณะที่เหตุผลความมั่นคงปลอดภัยเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัย การพยากรณ์อวกาศต่าง ๆ หากต้องพึงพาองค์ความรู้คนอื่น 100 % เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนภัยเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ดังนั้นชาติมหาอำนาจจึงทำเรื่องนี้อย่างหนักหน่วงมาก”

 

โดยเฉพาะการส่งดาวเทียม เพื่อการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การแจ้งเตือนภัย จะถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบการจราจรในวงโคจรต่ำรอบโลกหนาแน่น แออัดไปด้วยวัตถุอวกาศที่ยังทำงานอยู่ ขณะเดียวกันก็มีดาวเทียมที่หมดอายุกลายเป็นขยะอวกาศมากขึ้นด้วย


 


“ขยะอวกาศ” ล้นวงโคจร ภัยคุกคามโลก

 

มีข้อมูลว่าการเติบโตของธุรกิจอวกาศเชิงพาณิชย์ ทำให้ในวงโคจรโลกเต็มไปด้วยขยะจากดาวเทียมหมดอายุ และเศษซากจรวด เฉพาะชิ้นส่วนที่สามารถตรวจจับติดตามได้ ที่ขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร มีมากถึง 3 หมื่นชิ้นในวงโคจรรอบโลก ยังไม่นับชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ระบบตรวจจับไม่สามารถติดตามได้ ลอยกระจัดกระจายอยู่ในห้วงอวกาศ และมีโอกาสเป็นภัยคุกคาม สร้างความเสียหายต่อดาวเทียม สถานีอวกาศ และโครงสร้างพื้นฐานบนวงโคจรอื่นๆ ได้




ที่ผ่านมามีความพยายามในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะอวกาศ แต่ตัวเลขจำนวนดาวเทียมใหม่ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น “ขยะอวกาศ” จึงเป็นความท้าทายใหม่ของมนุษยชาติ ในการจัดการความเสี่ยงนอกโลกที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

 

 

เรียบเรียงโดย จิตฤดี บรรเทาพิษ


เครดิตภาพ TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง