รีเซต

ตาลิบันยึดอัฟกาฯ ครองแร่ธาตุมูลค่า 1 ล้านล้านดอลล์ ทีเด็ดคือลิเทียม

ตาลิบันยึดอัฟกาฯ ครองแร่ธาตุมูลค่า 1 ล้านล้านดอลล์ ทีเด็ดคือลิเทียม
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2564 ( 04:20 )
142

 

ตาลิบันยึดอัฟกาฯ - ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์ผลกระทบการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน และการหวนคืนอำนาจของตาลิบัน หลังสงครามยืดเยื้อที่สหรัฐยกทัพมาทุ่มเทอะไรต่อมิอะไรไปมากมายกว่า 20 ปี ว่าไม่เพียงจะเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม แต่ยังหมายถึงว่าตาลิบันจะได้ครอบครองแร่ธาตุราคาสูงในอัฟกานิสถาน

 

 

 

อัฟกานิสถานเป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เมื่อปี 2553 ทหารกองทัพสหรัฐ และนักธรณีวิทยาเผยว่า ที่ตั้งของประเทศที่พาดผ่านภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้ เป็นแหล่งแร่ธาตุที่ล้ำค่า มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกิน 30 ล้านล้านบาท ที่อาจจะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจให้พลิกโฉมอย่างน่าตะลึงพรึงเพริด

 

 

 

แร่ธาตุที่อยู่ในดินแดนแถบนี้ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองคำ ที่ปรากฏอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงแร่หายาก และอาจจะสำคัญที่สุด จนถึงขั้นเป็นแหล่งลิเทียม ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในแบตเตอรีสำหรับอุปกรณ์การสื่อสาร และแร่นีโอไดเมียม สำหรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้ลดคาร์บอน เพื่อรับมือวิกฤตโลกร้อน

 

 

ร็อด ชนูโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ผู้ก่อตั้งองค์กร กลุ่มอนาคตนิเวศวิทยา Ecological Futures Group กล่าวว่า อัฟกานิสถานไม่เพียงเป็นประเทศหนึ่งที่ร่ำรวยทรัพยากรแร่ธาตุ แต่ยังมีแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

 

อุปสรรคด้านความมั่นคง การขาดโครงสร้างพื้นฐาน และภัยแล้งที่รุนแรง เป็นตัวขัดขวางการขุดค้นแห่งแร่ธาตุของอัฟกานิสถานมาตั้งแต่อดีต และเหมือนกับว่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ภายใต้การคุมอำนาจของตาลิบัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สนใจอย่างยิ่ง คือจีน ปากีสถาน และอินเดีย ที่อาจจะผูกมิตรกับตาลิบัน แมืจะเกิดความโกลาหลก็ตาม

"นี่เป็นเครื่องหมายคำถามที่ใหญ่มาก" ชนูโอเวอร์ กล่าว

 

 

 

 

 

ความสงบไม่เคยเกิดขึ้น แร่จึงอยู่ที่เดิม

มีตัวเลขคาดการณ์จากฝ่ายวิจัยสภาคองเกรสสหรัฐว่า ชาวอัฟกันถึงร้อยละ 90 มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าระดับที่รัฐบาลขีดเส้นว่ายากจน มีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ หรือราว 66 บาทต่อวัน ส่วนธนาคารโลก ระบุว่า เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานเปราะบาง และต้องพึ่งพาผู้อื่นอย่างมาก

"การพัฒนาภาคเอกชน และการกระจายการลงทุน ถูกกดทับด้วยความไม่มั่นคง การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และบรรยากาศธุรกิจที่เต็มไปด้วยอุปสรรค" รายงานวิจัยระบุ

 

 

 

ปัจจุบัน สามประเทศที่เป็นแหล่งแร่ธาตุหายากสำคัญ ได้แก่ จีน สาธารณรัฐคองโก และออสเตรเลีย ครอบครองสัดส่วนลิเทียม โคบอลต์ และแร่หายากอยู่ถึงร้อยละ 75

 

 

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยประเมินว่า ลิเทียมที่อยู่ในอัฟกานิสถานอาจมีปริมาณสูงจนเป็นคู่แข่งของโบลิเวีย ชาติในอเมริกาใต้ ซึ่งครอบครองสัดส่วนสูงสุดในโลก

 

 

"ถ้าอัฟกานิสถานมีช่วงเวลาสงบสักไม่กี่ปี เพื่อเปิดทางให้พัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุ ประเทศนี้จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดภายในทศวรรษนี้" ซาอิด มีร์ซาด จากสำนักงานสำรวจธรณีสหรัฐ กล่าวกับนิตยสารไซเอินซ์ เมื่อปี 2553

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นได้เห็นแล้วว่า ความสงบไม่เคยเกิดขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในอัฟกานิสถานยังอยู่ในผืนดินเหมือนเดิม แม้จะมีการขุดทอง ทองแดง และเงินอยู่บ้าง แต่สำหรับ ลิเทียม และแร่หายากอื่นๆ แล้วต้องลงทุนมากกว่า และอาศัยเทคโนโลยีฮาวทู เช่นเดียวกับการใช้เวลา

 

 

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ IEA ประเมินว่า ต้องใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 16 ปี นับจากการค้นพบแหล่งแร่ เพื่อจะเริ่มขั้นตอนการผลิต

 

 

ตาลิบันยึดอัฟกาฯ พารวย?

ทุกวันนี้ การผลิตแร่ธาตุในอัฟกานิสถานแต่ละปี ทำเงินได้เพียง 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 30 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งร้อยละ 30-40 ยังถูกถลุงไปกับการคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับ การการครอบครองโครงการเหมืองเล็กๆ โดยเจ้าพ่อค้ายา หรือโดยตาลิบัน

 

ดังนั้นในมุมมองของชนูโอเวอร์ ตาลิบันมีโอกาสจะใช้อำนาจในการพัฒนากิจการเหมือง แต่สิ่งที่แปลกที่จะเป็นอุปสรรคก็คือ ตาลิบันต้องเร่งอุทิศสรรพกำลังให้กับด้านความมั่นคง และด้านมนุษยธรรม ในขณะที่การหาต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนเป็นเรื่องยากมาก

 

 

"ใครจะเข้ามาลงทุนในอัฟกานิสถานกันในเมื่อไม่เคยลงทุนมาก่อน สำหรับเอกชนแล้วคงไม่เสี่ยงแน่นอน" ข่านกล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการแสดงทีท่าของรัฐบาลจีนที่ต้องการรักษาการติดต่อสื่อสารกับตาลิบันในอัฟกานิสถาน จึงถูกมองว่า จีนจะเข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถาน ทั้งในแง่ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และแรงดึงดูดเรื่องลิเมียม

 

 

ชนูโอเวอร์ มองว่า ธุรกิจเหมืองเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะหากเหมืองดำเนินการโดยไม่ระมัดระวังแล้ว อาจเกิดหายนะทางนิเวศวิทยา และกระทบต่อประชาชนที่ไม่มีปากมีเสียงอย่างยิ่ง เมื่อรวมถึงความไม่มีเสถียรภาพ จีนอาจไปมองหาที่ภูมิภาคอื่นจะดีกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง