ตาลีบัน : ชาวอัฟกันเล่านาทีหนีตายจากอัฟกานิสถาน
ผู้คนนับพันต่างรอขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากสนามบินนานาชาติกรุงคาบูล หลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดเมืองหลวงของอัฟกานิสถานเมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อน
ขณะนี้กองทัพสหราชอาณาจักรกำลังเร่งอพยพพลเมืองของตน และชาวอัฟกันที่ได้สิทธิลี้ภัยออกจากอัฟกานิสถาน ก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่กองทัพสหรัฐฯ จะถอนทหารในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และนี่คือเรื่องราวการหนีตายจากเงื้อมมือกลุ่มตาลีบันของพวกเขา
"พวกเขาจะฆ่าคุณ"
ปีย์มานา อัสซาด วัย 30 ปี เป็นคนเชื้อสายอัฟกันที่ย้ายมาอยู่ในสหราชอาณาจักรตอนอายุได้ 3 ขวบ เธอทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านแรงงานในกรุงลอนดอน แต่เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่กรุงคาบูลในตอนที่กลุ่มติดอาวุธตาลีบันเข้ายึดอำนาจ
ตอนที่นางอัสซาดได้รับโทรศัพท์แจ้งให้อพยพจากสถานทูตอังกฤษ เธอก็ตรงดิ่งไปยังสนามบิน แต่มีการปิดถนน ทำให้เธอตัดสินใจลงจากรถแล้ววิ่งไปตามถนนที่รถติดยาวเหยียด
"ฉันเห็นผู้คนนับร้อยทั้งเดินและวิ่งไปสู่สนามบิน พวกเขาพากันลงจากรถแล้ววิ่งไปยังสนามบิน" เธอเล่าถึงความโกลาหลในตอนนั้น
"พวกพ่อค้าแม่ค้าออกมาดูความตื่นตระหนกและความโกลาหล รวมถึงความหวาดกลัวของผู้คนที่วิ่งกรูสู่สนามบิน และขณะที่ฉันกำลังวิ่งอยู่นั้นเอง พ่อค้าคนหนึ่งได้ชี้มาที่ฉันแล้วพูดว่า "ถ้าตาลีบันจับตัวคุณได้ พวกเขาจะฆ่าคุณ คุณต้องวิ่งให้เร็วกว่านี้"
นางอัสซาดหาจุดนับพบกับเจ้าหน้าที่อังกฤษจนเจอ แต่ได้รับแจ้งว่าเธอมาสายเกินไป เจ้าหน้าที่ได้มาถึงและออกกันไปหมดแล้ว
"ฉันได้แต่ยืนอยู่ตรงถนน มีแบตเตอรี่โทรศัพท์เหลืออยู่แค่ 3% ฉันดูแบตเตอรี่แล้วคิดว่าถ้าโทรศัพท์ของฉันดับ และยังคงยืนรออยู่ตรงนี้ โดยที่ไม่มีคนของสถานทูตมา จะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นตาลีบันได้รุกคืบมาถึงบริเวณนี้ ฉันจะต้องหาที่ปลอดภัยสักแห่งที่จะเข้าไปหลบภัย" เธอเล่า
โชคดีที่ชาวอัฟกันครอบครัวหนึ่งยอมให้เธอเข้าไปหลบและชาร์จโทรศัพท์ ซึ่งเธอได้ใช้โทรหากระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักรและนายกาเรธ โทมัส ส.ส.ในเขตที่เธออยู่ในกรุงลอนดอน
นางอัสซาดเล่าว่า "ครอบครัวนั้นใจดีมาก พวกเขาพาฉันขึ้นรถ แล้วพาไปส่งยังจุดนัดพบที่ปลอดภัยอีกครั้ง ซึ่งเมื่อไปถึงฉันก็เจอทหารอังกฤษรออยู่"
"นาทีที่ฉันเห็นพวกเขา (ทหารอังกฤษ) และพวกเขาเห็นฉัน ฉันรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาก...และโล่งใจที่ฉันปลอดภัย ณ จุดนั้น"
"พวกเราหลายคนเริ่มพากันร้องไห้อย่างหนัก"
ฮัสซินา ไซเอ็ด นักธุรกิจและนักกิจกรรมชาวอัฟกัน บอกว่ารู้สึก "โล่งใจมาก" ตอนที่เที่ยวบินอพยพของเธอบินออกจากอัฟกานิสถาน
นางไซเอ็ด เล่าว่าตัดสินใจหนีออกมาอย่างรวดเร็วเพราะสถานการณ์ "คาดเดาได้ยากมาก" เธอมุ่งตรงไปที่สนามบินพร้อมกับพาสปอร์ตอัฟกานิสถาน และใบขับขี่อังกฤษ ตอนนั้นสามีและลูก ๆ ของเธออยู่ในสหราชอาณาจักร
เมื่อถูกถามถึงบรรยากาศของเที่ยวบินนั้น นางไซเอ็ดเล่าให้ทีมข่าวบีบีซีฟังว่า "ทุกคนรู้สึกสะเทือนใจมาก พวกเราหลายคนเริ่มพากันร้องไห้อย่างหนัก"
เธอเล่าต่อว่า ทหารบนเครื่องบินได้ให้น้ำดื่มและอาหารแก่ผู้โดยสาร และมันก็น่าซึ้งใจมากที่พวกเขาพยายามปลอบโยนเด็ก ๆ ที่กำลังร้องไห้
แม้ตัวเองจะหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แต่นางไซเอ็ดบอกว่า ผู้หญิงชาวอัฟกันที่ยังติดอยู่ในประเทศต่าง "กังวล" และ "อยากหนีออกมา" เพราะหวาดกลัวว่ากลุ่มตาลีบันจะ "มาจับตัวพวกเธอไป"
"เราคือผู้โชคดี"
นายการ์กัชต์ ฮีได ชาวอัฟกันสัญชาติอังกฤษ ซึ่งทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ ได้ย้ายมาอยู่ในสหราชอาณาจักรเมื่อ 6 เดือนก่อน แต่เดินทางกลับไปอัฟกานิสถานในจังหวะเดียวกับที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจ
เขาได้รับแจ้งให้อพยพ แต่ภรรยาของเขาไม่ได้ถือสองสัญชาติ และได้รับแจ้งในเบื้องต้นว่าไม่มีสิทธิได้ร่วมการเดินทางอพยพครั้งนี้ แม้ภายหลังจะได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ แต่เธอต้องประสบปัญหาในการเดินทางไปยังสนามบินเพื่อสมทบกับสามีและลูก ๆ ซึ่งถือสัญชาติอังกฤษ
นายการ์ฮีได เล่าว่า "สถานการณ์เลวร้ายมาก เพราะตอนแรกเราอยู่ด้านในเขตสนามบิน และได้เห็นทั้งการต่อสู้และการยิงกัน เธอ (ภรรยา) ร้องไห้โฮตอนที่เราได้พบหน้ากันอีกครั้ง...ทหารอังกฤษนายหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ก็พลอยร้องไห้ตามไปด้วย"
นายการ์ฮีไดบรรยายถึงการเดินทางสู่สหราชอาณาจักรว่าเต็มไปด้วย "ความโกลาหล" เครื่องบินมีผู้โดยสารแน่นขนัด ลูกคนหนึ่งของผมต้องนั่งกับพื้น"
ตอนที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ครอบครัวของนายการ์ฮีไดกำลังกักตัวตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ เขาเล่าถึงความรู้สึกที่ได้อยู่บนแผ่นดินแห่งนี้ว่า "ผมรู้สึกดีใจ พวกเราปลอดภัย เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กันในสหราชอาณาจักร"
"เราคือผู้โชคดี เรารอดมาได้ แต่ยังมีผู้คนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ"