ตาลีบัน : จีนมีความสำคัญต่ออนาคตของอัฟกานิสถานอย่างไร
ไคเบอร์ พาส (Khyber Pass) เป็นหนึ่งในเส้นทางที่มีการโจมตีกันมากที่สุดในโลก เป็นพื้นที่ต้องห้าม ภูมิประเทศสูงชันและอันตราย ทอดตัวจากพรมแดนอัฟกานิสถานไปยังหุบเขาเปชวาร์ที่อยู่เบื้องล่าง 20 ไมล์ (32 กม.) ในอัฟกานิสถาน
เป็นเวลา 3,000 ปีแล้วที่กองทัพต่าง ๆ ได้ต่อสู้กันบริเวณแถบช่องแคบที่เป็นหินนี้ และตั้งค่ายพักแรมอยู่ในหุบเขาต่าง ๆ คุณอาจยังคงเห็นตราสัญลักษณ์ของกรมทหารต่าง ๆ ทั้งจากกองทัพอังกฤษและกองทัพอังกฤษอินเดีย ซึ่งได้รับการรักษาไว้อย่างดีตลอดแนวสองข้างทาง พร้อมกับป้อมปราการที่พวกเขาเคยสร้างและคุ้มกัน ชนเผ่าปัชตุนซึ่งใช้ปืนเจเซล อาวุธโบราณ หรือปืนยาวคาบศิลา คอยดักซุ่มยิงทหารที่ผ่านมาอย่างแม่นยำจากหินที่อยู่ด้านบน
ปัจจุบัน เต็มไปด้วยรถบรรทุกพืชผลการเกษตรจากแรงงานอัฟกานิสถานวิ่งผ่าน บางครั้งก็มีผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกาะอยู่ด้านข้างรถบรรทุกเหล่านั้นโดยสารมาด้วย ริมถนนมีกลุ่มชายชรา เดินแบกกล่องสินค้าที่ลักลอบนำมาขาย
"บรรยากาศแห่งความน่ากลัวและความเร่งรีบ"
ไคเบอร์ พาส สิ้นสุดที่ทัวร์แคม พรมแดนที่พลุกพล่านที่สุดของอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถาน
หลายปีก่อนหน้านี้ ทางการปากีสถานได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่นี้ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการผู้คนจำนวนมากที่รอผ่านแดนได้ดีกว่าเดิม แต่ยังมีบรรยากาศของความหวาดกลัวและเร่งรีบ เพราะผู้คนพยายามที่จะหนีกลุ่มตาลีบัน ผู้ปกครองใหม่ของอัฟกานิสถาน ถ้ามองจากฝั่งปากีสถานคุณจะเห็นพวกเขายืนออกันอยู่หลังแนวลวดหนามท่ามกลางแดดร้อนระอุ โบกเอกสารไปมา และวิงวอนขอผ่านแดน ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีเอกสารในการเดินทางออกจากอัฟกานิสถานด้วยเหตุผลทางการแพทย์จะได้รับอนุญาตให้ข้ามแดนได้พร้อมกับครอบครัวของพวกเขา
คนต่อแถวยาว มีรถเข็นและกระเป๋าเดินทางวางอยู่ระเกะระกะ ขยับไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ ผ่านด่านตรวจหลายแห่ง
บนถนนซึ่งเป็นพรมแดนจริง ๆ ทหารปากีสถาน 2-3 นาย ยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่คุ้มกันของตาลีบันที่สวมเครื่องแบบชั่วคราว
ตาลีบันไม่ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผม ผมถามหนึ่งในสมาชิกตาลีบันที่เป็นผู้ชายตัวใหญ่มีเคราเฟิ้มสวมหน้ากากอนามัยคนหนึ่งว่า ทำไมถึงไม่มีธงชาติสีเขียวดำของอัฟกานิสถานอยู่ที่ด่านชายแดน แต่กลับถูกแทนที่ด้วยธงสีขาวของตาลีบัน ซึ่งมีคำว่าข้อความตามความเชื่อของชาวมุสลิมเขียนไว้
"ตอนนี้ประเทศของเราเป็นรัฐอิสลามแล้ว" เจ้าหน้าที่คุ้มกันชายแดนคนดังกล่าวตอบอย่างภาคภูมิใจ "และนี่คือธงที่ถูกต้องของประเทศนี้"
มีช่วงเวลาที่ตึงเครียดเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ชายแดนของตาลีบันและปากีสถานเผชิญหน้ากันโดยไม่ได้มีท่าทีมุ่งร้ายต่อกัน
ชาวอัฟกันกล่าวหาปากีสถานว่ามีส่วนทำให้ตาลีบันเข้ายึดครองประเทศได้สำเร็จ พวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า ปากีสถานส่งเสริมและก่อตั้งสมาชิกกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน โดยเฉพาะ ISI หน่วยงานสอดแนมอันฉาวโฉ่ของปากีสถาน ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ของปากีสถานกับตาลีบันไม่อาจเรียกได้ว่าใกล้ชิดกัน นับตั้งแต่อิมราน ข่าน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีปากีสถานในปี 2018 อิทธิพลที่มีต่อตาลีบันก็เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อิทธิพลของจีน
ส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มองว่าการมีความสัมพันธ์กับตาลีบันในตอนนี้ถือเป็นความน่าอับอาย กลุ่มตาลีบันมีความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียและประเทศในอ่าวเปอร์เซียหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดกัน
ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตาลีบันมากที่สุดคือ จีน ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีของความอับอายใด ๆ เลย ชาวอัฟกันจำนวนมากกำลังอพยพออกจากประเทศ เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานดูเหมือนจะพังทลาย เช่นเดียวกับตอนที่ตาลีบันขึ้นมามีอำนาจครั้งก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 1996-2001 ดังนั้น จำเป็นต้องได้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากจีนเพื่อรักษาอัฟกานิสถานให้อยู่รอดได้ นั่นจึงทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจในการควบคุมนโยบายของอัฟกานิสถานอยู่ในระดับหนึ่ง
เรามั่นใจได้ว่า ตาลีบันจะไม่ท้าทายจีนในประเด็นปัญหาต่าง ๆ อย่างการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมและประชากรชาวอุยกูร์ของจีน
การที่ตาลีบันขึ้นมามีอำนาจได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และหลายประเทศที่ได้ช่วยเหลืออัฟกานิสถานตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังทำให้นโยบายของอินเดียหยุดชะงักไปด้วย อินเดียได้อัดฉีดเงินมหาศาลและผู้เชี่ยวชาญให้แก่อัฟกานิสถาน มีข้อตกลงที่ดีกับรัฐบาลนายฮามิด คาไซ และนายอัชราฟ กานี ซึ่งทั้งคู่ต้องการให้อินเดียช่วยถ่วงดุลกับปากีสถาน ตอนนี้ทุกอย่างจบลงแล้ว
ครั้งสุดท้ายที่ครองอำนาจ ตาลีบันได้รับการปฏิบัติในฐานะพวกนอกคอก เศรษฐกิจเลวร้ายลงจนกระทั่งปี 2001 ไม่มีเงินซื้อเชื้อเพลิง รถราที่ยังเหลืออยู่ก็ต้องหยุดวิ่ง คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินซื้อเครื่องปั่นไฟ และเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ท้องถนนมืดมิดและเงียบสงัดในช่วงกลางคืน ส่วนในช่วงกลางวัน คนส่วนใหญ่ก็ชอบที่อยู่ในบ้านมากเท่าที่จะทำได้ เพราะกลัวการใช้อำนาจตามอำเภอใจของกลุ่มตาลีบัน
ครั้งนี้จะเป็นเหมือนเดิมไหม
สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือจีน ถ้ารัฐบาลจีนตัดสินใจว่า ต้องการจะหาประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ จีนก็จะเข้ามาช่วยตาลีบันให้รอดพ้นจากการล้มละลาย แต่ถ้าไม่ พวกตาลีบันก็จะต้องดูแลตัวเอง