อาร์กติกเขียวขึ้น สัญญาณเตือนโลกร้อนลุกลาม

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาระบบนิเวศของพืชในเขตทุนดราอาร์กติกเปิดเผยว่า ความเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณในพื้นที่หนาวจัดที่สุดของโลกกำลังแสดงให้เห็นถึง “สัญญาณเตือนล่วงหน้า” ของความปั่นป่วนที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งระบบนิเวศที่เปราะบางและชุมชนมนุษย์ที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เหล่านี้
ตลอดระยะเวลา 40 ปี นักวิจัย 54 คนได้ติดตามชุมชนพืชกว่า 2,000 กลุ่มใน 45 พื้นที่ ตั้งแต่เขตอาร์กติกของแคนาดา อลาสกา จนถึงสแกนดิเนเวีย ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารNatureพบว่า แม้ภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่ปรากฏรูปแบบแนวโน้มที่ชัดเจนว่าพืชกลุ่มใดจะเป็นผู้ “รอด” หรือ “สูญพันธุ์” บางพื้นที่มีพุ่มไม้และหญ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่พืชดอกลดลงเนื่องจากถูกแย่งแสงโดยพืชที่สูงกว่า
ดร.มาริอานา การ์เซีย คริอาโด นักวิจัยหลังปริญญาเอกด้านความหลากหลายชีวภาพของทุนดรา จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า “เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วทั้งเขตอาร์กติกอย่างรวดเร็วอัตราการร้อนขึ้นมากกว่าส่วนอื่นของโลกถึง 4 เท่า เราจึงคาดว่าจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนเหมือนในระบบนิเวศอื่น ๆ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอาร์กติกเป็นพื้นที่พิเศษที่คาดเดาไม่ได้เสมอ”
ทีมวิจัยพบว่า บริเวณที่อุ่นกว่าและอยู่ในละติจูดต่ำมักมีความหลากหลายของพืชสูงกว่า ขณะเดียวกัน บริเวณที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิสูงที่สุดกลับมีทั้งการเติบโตและการสูญเสียของพืชอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น ในเขตตะวันตกของแคนาดา กลุ่มวิจัย Team Shrub ของศาสตราจารย์อิสลา ไมเยอร์ส–สมิธ พบว่าทุนดรากำลัง “เปลี่ยนเป็นสีเขียว” อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพุ่มไม้ เช่น ต้นวิลโลว์ ขยายตัวและเติบโตสูงขึ้น
พุ่มไม้เหล่านี้สามารถแย่งแสงและทรัพยากรจากพืชอื่น ๆ เช่น หญ้าคอตตอน มอสส์ และไลเคน ซึ่งใช้เวลาหลายร้อยถึงหลายพันปีในการเติบโต เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้นและฤดูเติบโตยาวนานขึ้น แนวโน้มนี้จึงไม่มีทีท่าจะหยุดลง และคาดว่าความหลากหลายของพืชในอาร์กติกจะเพิ่มขึ้นต่อไป
แม้ความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นอาจดูเป็นเรื่องดี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีต้นทุนแอบแฝงสูง “ระบบนิเวศเหล่านี้เปราะบางมาก การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในองค์ประกอบของพืชสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งระบบได้” การ์เซีย คริอาโด กล่าว พร้อมเสริมว่า ฝูงกวางคาริบูอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะพุ่มไม้ที่เพิ่มขึ้นจะเบียดไลเคนซึ่งเป็นอาหารโปรดของพวกมันการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงกระทบต่อสัตว์อาร์กติก แต่ยังกระทบถึงความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงชาวพื้นเมืองในอาร์กติก และยังส่งผลต่อหน้าที่ของระบบนิเวศโดยรวมด้วย
ศาสตราจารย์เกร็ก เฮนรี นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ซึ่งร่วมจัดตั้งระบบการเก็บข้อมูลของงานวิจัยนี้ กล่าวว่า งานภาคสนามครั้งนี้ต้องใช้เวลาหลายพันชั่วโมงในพื้นที่ห่างไกล นักวิจัยต้องอดทนต่อสภาพอากาศรุนแรง ฝูงแมลงกัดต่อย และแม้กระทั่งการเผชิญหน้ากับหมีขั้วโลก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับมอสส์และไลเคนยังไม่เพียงพอที่จะนำมารวมในการศึกษาครั้งนี้ ทั้งที่พืชจำพวกนี้มีบทบาทสำคัญในการคงสมดุลของระบบนิเวศอาร์กติก
การ์เซีย คริอาโด กล่าวทิ้งท้ายว่า การค้นพบเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่แน่นอนอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิต และอาร์กติกเองก็อาจเป็นภาพสะท้อนล่วงหน้าของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก สิ่งที่เรากำลังเห็น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาร์กติก เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่นี่ก่อน แต่ผลกระทบจะแผ่ขยายไปไกลกว่านั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจ และต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะนี่ไม่ใช่คำถามว่าจะเกิดไหมแต่มันคือคำถามว่าจะเกิดเมื่อไหร่?