รีเซต

เมื่อการกระทำของ “มนุษย์” เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เมื่อการกระทำของ “มนุษย์” เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
TNN ช่อง16
26 กันยายน 2567 ( 15:30 )
26

ประเทศไทยเผชิญมรสุมที่พัดผ่านประเทศและหย่อมความกดอากาศต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดอุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคกลาง


สาเหตุของการเกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือ


ทั้งนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา จากอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ช่วงเดือนสิงหาคม จากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2567 และปริมาณฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17-21 สิงหาคม 2567 เพราะอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนถึงปานกลางและมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นบางช่วง จึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องได้เกือบทุกวันและตกหนักถึงหนักมากในบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นน้ำท่าที่มีปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ อย่างรวดเร็ว 


อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ วันที่ 26 กันยายน 2567 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย เลย หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวม 72 อำเภอ 268 ตำบล 1,132 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 26,250 ครัวเรือน


ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) คาดว่ามูลค่าความเสียหาย สำหรับช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2567 จะอยู่ที่ราว 6,000-8,000 ล้านบาท หรือ 0.03-0.04% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนในระยะถัดไปต้องติดตามพายุที่อาจจะเข้าได้ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถือเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม


ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ สร้างความเสียหายค่อนข้างเยอะ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนในพื้นที่ผ่านกลไกต่าง ๆ ที่มีอย่างเต็มกำลังเบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการประเมินความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือในรอบแรก ว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท


ภาพจาก AFP


ปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์


เมื่อย้อนกลับไปในปี 2554 ข้อมูลจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ระบุว่าปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ต้นปีและยืดเยื้อจนถึงปลายปี พื้นที่ประสบภัยกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานานหลายเดือน 


กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก


จากการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 31.45 ล้านไร่ กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุม 72 จังหวัด 763 อำเภอ 5,296 ตำบล


ปี 2567 แม้สถานการณ์น้ำมาเร็วไปเร็ว แต่สร้างความเสียหายมาก


ทั้งนี้ วงเสวนา "แนวทางการกำกับดูแลทรัพยากรน้ำในบริบทของภัยพิบัติอุทกภัยและวาตภัยที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สทนช. ฤดูกาลปัจจุบัน / ระยะยาว" ในวงเสวนา “Dialogue Forum 1 / Year 5: โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค” ในมุมมองของ ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ข้อมูลโดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยอมรับว่าปีนี้หนักมาก ส่วนคำถามที่ถูกถามมาตลอดตั้งแต่เข้าฤดูฝน คือปีนี้น้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 2554 หรือไม่ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือปีนี้ มีความหนักหน่วงไม่น้อยจากน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 แม้น้ำจะมาเร็วไปเร็ว แต่ก็ทิ้งร่องรอย สร้างความเสียหายมาก 


ปีนี้ อย่างที่ได้บอกไป ต่อให้น้ำน้อยกว่าปี 2554 หรือท่วมแบบปกติ แน่นอนว่าความเสียหายก็มากกว่าที่เคยเกิดขึ้น เพราะว่าลักษณะของภูมิประเทศของประเทศไทยจากปี 2554 มาถึงปัจจุบัน ผ่านมา 10 กว่าปี เปลี่ยนไปเยอะมาก น้ำท่วมรอบนี้เป็นดินโคลนถล่มเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเทียบกับปี 2554 ไม่ได้ด้วยซ้ำเพราะเป็นการท่วมที่ต่างกัน ซึ่งน้ำที่ท่วมปีนี้มาจากการกัดเซาะหน้าดิน มีโคลนและดินมาเยอะมาก


ทั้งนี้ เมื่อดูจากสถานการณ์ป่าไม้ของไทยก็ลดลงไปเรื่อยๆ โดยปริมาณป่าไม้ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ป่าไม้มีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินที่เปลี่ยนไปเยอะมาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงของน้ำเท่าเดิมมันมากขึ้น การรุกล้ำลำน้ำก็เป็นปัจจัยด้วย


เหตุจากการกระทำของ “มนุษย์” เร่งเร้าเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 


จากสิ่งต่างๆ ที่เราทำกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าที่ลดลง การรุกล้ำลำน้ำ การเผาไหม้ หรือกิจกรรมจากการกระทำของ “มนุษย์” ก็ล่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น น้ำมากขึ้น มาจากการกระทำของมนุษย์ทุกคนที่ทำให้โลกเลวร้ายลง


ภาพจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 



อ้างอิงข้อมูลจาก

- งานเสวนา “Dialogue Forum 1 / Year 5: โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค”

- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)




ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง