รีเซต

‘สภาพัฒน์’ เล็งปล่อยเงินกู้ก้อน 4 แสนลบ. ผ่านโครงการระยะ 2 ที่อยู่ระหว่างจัดทำแผน

‘สภาพัฒน์’ เล็งปล่อยเงินกู้ก้อน 4 แสนลบ. ผ่านโครงการระยะ 2 ที่อยู่ระหว่างจัดทำแผน
มติชน
14 ตุลาคม 2563 ( 05:33 )
131
‘สภาพัฒน์’ เล็งปล่อยเงินกู้ก้อน 4 แสนลบ. ผ่านโครงการระยะ 2 ที่อยู่ระหว่างจัดทำแผน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการใช้เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนโครงการขอใช้เงินกู้ระยะที่ 2 โดยยังต้องหารือร่วมกันในคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้อีกครั้ง เพื่อจัดทำแผนให้เรียบร้อย ก่อนเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีโครงการบางส่วนผ่านการอนุมัติออกไปแล้ว ในด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

 

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายของโครงการใช้เงินกู้ ที่ถูกมองว่ามีความล่าช้านั้น เนื่องจากแผนเบิกจ่ายของหน่วยงาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นในช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมีปัญหาในส่วนของระบบเล็กน้อย โดยส่วนนี้ได้ทำการแก้ไขปัญหาแล้ว ทำให้เม็ดเงินจะเริ่มทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้น จากก้อนแรกที่มีโครงการผ่านการอนุมัติจากครม. คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

 

“เงินก้อน 4 แสนล้านบาท ยืนยันว่าจะไม่ใช้จนหมดภายในปีนี้แน่นอน เนื่องจากจะทยอยปล่อยเม็ดเงินออกมาเป็นระยะๆ เพื่อประเมินตามสถานการณ์ในขณะนั้นๆ ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจมีสูง จึงต้องประเมินว่า ช่วงเวลานั้น สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ควรต้องใส่เม็ดเงินอัดเข้าไปในส่วนใด อาทิ หากมีการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เกิดขึ้น ก็จะมีเม็ดเงินพร้อมใช้เตรียมไว้ต่อไป” นายดนุชา กล่าว

 

นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนที่มองว่า หากใช้เงินกู้หมดแล้ว สามารถกู้เพิ่มได้อีกนั้น ต้องย้อนถามว่า หากอัดเม็ดเงินงบประมาณจากเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือ 2-3 แสนล้านบาทจนหมด และหากเกิดปัญหาขึ้นมาอีก อาทิ เกิดการระบาดระลอก 2 ในประเทศขึ้น คนส่วนใหญ่พร้อมหรือไม่ ที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก เพราะไม่มีเงินงบประมาณเหลือแล้ว เนื่องจากวิธีหาเงินในขณะนี้ หากไม่กู้เพิ่มเข้ามา ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มอีก จึงยืนยันว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นการสนับสนุนมาตรการทั้งการเงินและการคลัง ซึ่งปัญหาจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่อัดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาสภาพคล่องในสภาพเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ต้องเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจก่อน โดยการแก้ไขดังกล่าว อาจสามารถใช้มาตรการช่วยเหลือของฝั่งธนาคารต่างๆ ซึ่งต้องมาหารือมาตรการส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง