รัฐใดใช้ Blockchain กันแล้วบ้าง ? ตั้งแต่การเงินไปจนถึงงานเอกสารทั่วไป
TNN ช่อง16
29 สิงหาคม 2566 ( 19:29 )
121
บล็อกเชน (Blockchain) คือเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่แยกเก็บเป็นกล่อง (Block) ในรูปแบบห่วงโซ่ (Chain) ในระบบ ซึ่งทำให้การนำข้อมูลออกมาเป็นเรื่องที่ยาก จึงมีการนำไปใช้เป็นลักษณะของเงินแบบใหม่ที่เรียกว่าคริปโทเคอเรนซี (Cryptocurrency) และการเสริมระบบความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งมีภาครัฐที่สนใจนำไปใช้กับการบริหารจัดการ ดังนี้
12 รัฐที่ใช้ Blockchain ในระบบ
เอสโตเนีย เป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านบล็อกเชนสำหรับภาครัฐมากที่สุดของโลกในตอนนี้ เอสโตเนียใช้บล็อกเชนในการเก็บประวัติการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล, บันทึกการพิจารณาคดี, การออกกฎหมาย, การรักษาความปลอดภัย, และรวมถึงการเข้ารหัสทางการค้า ซึ่งนับว่าแทบครอบคลุมในเกือบทุกด้านของการให้บริการของรัฐ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รัฐบาลของ UAE ตั้งเป้าให้ครึ่งหนึ่งของธุรกรรมในภาครัฐเป็นการทำธุรกรรมบนระบบบล็อกเชนมาตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา เพื่อลดการใช้กระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ
สหราชอาณาจักร ในภาคธุรกิจแล้วถือว่าสหราชอาณาจักรเป็นประเทศมีการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างแพร่หลาย และฝั่งภาครัฐก็ใช้ระบบนี้ในการให้บริการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการตรวจสอบสวัสดิการ ภายใต้โครงการ BaaS (Blockchain-as-a-service) มาตั้งแต่ปี 2016 อีกด้วย
จอร์เจีย รัฐบาลใช้บล็อกเชนในการทำธุรกรรมที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐทั้งในด้านความปลอดภัยและความเร็วในการทำธุรกรรมเพื่อลดการฉ้อโกง
สวีเดน หน่วยงานด้านที่ดินของสวีเดน (Lantmäteriet) ได้ทดลองการใช้บล็อกเชนเพื่อการลงทะเบียนที่ดินที่แม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น
สหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างเต้มที่ ทั้งการลงทุนเกิน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 4,200 ล้านบาท สนับสนุนให้มีการสร้างตู้เอทีเอ็ม (ATM) สำหรับถอนบิตคอยน์ (Bitcoin) และสนับสนุนให้มีการตั้งสตาร์ตอัปที่ใช้บล็อกเชน ซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของสตาร์ตอัปด้านนี้ก็เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ด้วย
สิงคโปร์ ธนาคารกลางของสิงคโปร์มีโครงการที่ชื่อว่าอูบิน (Ubin) ในการศึกษาการนำระบบบล็อกเชนไปใช้ในบริการชำระเงินและระบบความปลอดภัยทางการเงินในอนาคต
- เลบานอน จากปัญหาด้านสเถียรภาพทางการเงินและการคลังของเลบานอน ทำให้ธนาคารกลางเลบานอนสร้างธนาคารเงินดิจิทัลกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ขึ้นมาเพื่อให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลลิร่า (Lira) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021
แอฟริกาใต้ ธนาคารกลางของแอฟริกาใต้เปิดโครงการโคคา (Khoka) ในการใช้โควรัม (Quorum) ระบบบล็อกเชนสำหรับภาคธุรกิจในปี 2018 ร่วมกับ 7 ธนาคารเอกชนในประเทศเพื่อทำระบบชำระเงินกลางร่วมกัน และจะทำเหรียญคงตัว (Stable Coin) เหรียญคริปโทที่มีค่าเงินเท่ากับเงินจริงในอนาคต
บาฮามาส ธนาคารกลางของบาฮามาส (CBB) ได้เปิดตัว แซนด์ ดอลลาร์ ในปี 2017 ที่ใช้บล็อกเชนเป็นพื้นฐานพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อยกระดับกรอบการทำงานภาคการเงินและใช้เป็นตัวกลางในการใช้จ่าย โดยทดสอบและเริ่มเปิดให้ใช้จริงในปี 2020 ที่ผ่านมา
ออสเตรเลีย ตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลีย (Australian Securities Exchange: ASX) ได้เตรียมนำระบบบล็อกเชนมาใช้บันทึกการถือหุ้นและการจัดการบริการธุรกรรมการซื้อ-ขายหุ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ไทย ประเทศไทยมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภายใต้ “โครงการอินทนนท์” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมพัฒนาการใช้บล็อกเชนเพื่อการทำหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain) อีกด้วย
และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการใช้ Blockchain จากทั่วโลกในฝั่งภาครัฐที่ TNN Tech รวบรวมและสืบค้นพบในปัจจุบัน