“กรุงคาบูล” น้ำใกล้หมด อาจเป็นเมืองหลวงแรกของโลก ที่แห้งแล้งจนไม่มีน้ำใช้!

“กรุงคาบูล” เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน กำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำสะอาดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยองค์กร Mercy Corps เตือนว่าเมืองนี้อาจกลายเป็นเมืองหลวงแห่งแรกในโลกที่ไม่มีน้ำใช้หลงเหลือเลย หากสถานการณ์ยังคงเลวร้ายลงเช่นนี้
ในทุกเช้าของกรุงคาบูล ครอบครัวหนึ่งต้องเริ่มต้นวันด้วยภารกิจเร่งด่วนในการจัดหาน้ำสำหรับการดำรงชีวิต น้ำกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละลิตรที่ได้รับมานั้นมีต้นทุนสูง ทั้งในแง่เงินและเวลา ผู้คนต้องรอคิวเติมน้ำจากรถบรรทุกหรือบ่อน้ำของมัสยิดใกล้เคียง โดยต้องใช้ภาชนะเก่าๆ ในการขนน้ำกลับบ้านเพื่อใช้อย่างจำกัด
หลายครอบครัวต้องเลือกตัดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น อาหาร หรือของใช้จำเป็น เพื่อนำเงินไปซื้อน้ำสะอาดมาใช้ในชีวิตประจำวัน บางครอบครัวยอมอดออมเงินนานหลายเดือนเพื่อขุดบ่อน้ำในบ้านของตนเอง แม้ต้องลงทุนหลักหมื่นบาท แต่กลับพบว่าน้ำที่ได้มาไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากปนเปื้อนสารเคมีหรือสิ่งปฏิกูล
ข้อมูลจาก Mercy Corps ระบุว่า ขณะนี้ประมาณ 80% ของน้ำใต้ดินในกรุงคาบูลมีการปนเปื้อนอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่มาจากระบบสุขาภิบาลแบบหลุมและของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ชาวเมืองต้องต้มกรองน้ำด้วยวิธีพื้นฐานก่อนบริโภค ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพ เช่น อาการท้องเสียและอาเจียน กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง แม้ว่าฝนจะตกบ่อยขึ้นในบางปี แต่ปริมาณหิมะที่เคยช่วยเติมน้ำใต้ดินกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงกว่า 30 เมตรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ชาวคาบูลที่ไม่มีเงินมากพอจะเจาะบ่อน้ำต้องพึ่งพารถบรรทุกน้ำของเอกชน ซึ่งคิดค่าบริการในราคาสูง จนบางครัวเรือนต้องใช้เงินถึง 30% ของรายได้ไปกับค่าน้ำเพียงอย่างเดียว ขณะที่คนที่รายได้น้อยกว่านั้นต้องเดินทางไกลเพื่อไปเอาน้ำจากมัสยิดหรือสถานที่สาธารณะ โดยบางครั้งเด็กต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยครอบครัวขนน้ำกลับบ้าน ด้านMercy Corps ระบุว่า วิกฤตน้ำในคาบูลไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นวิกฤตสุขภาพ เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กที่ต้องแบกรับภาระในการจัดหาน้ำ ซึ่งในยุคที่ตาลีบันกลับมาปกครอง การออกนอกบ้านของผู้หญิงต้องมีผู้ชายในครอบครัวไปด้วย ทำให้การออกไปหาน้ำกลายเป็นเรื่องอันตรายและยากลำบากมากยิ่งขึ้น
จากการคาดการณ์ของยูนิเซฟ หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ คาบูลอาจไม่มีน้ำใต้ดินเหลือใช้อีกต่อไปภายในปี 2573 แถมสถานการณ์ก็ถูกซ้ำเติมด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากตาลีบันยึดอำนาจในปี 2564 ความช่วยเหลือจากนานาชาติได้หยุดชะงักลง โดยเฉพาะเมื่อต้นปีนี้ สหรัฐฯ ได้สั่งระงับการส่งเงินสนับสนุนผ่านองค์การ USAID ซึ่งเป็นแหล่งทุนหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ส่งผลให้ในปี 2568 มีงบประมาณเพียง 8 ล้านดอลลาร์ จากที่ต้องการ 264 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการน้ำและสุขาภิบาลทั่วประเทศ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
