บัวหลวง ประเมินราคาพื้นฐาน"โอ้กะจู๋" ที่ 7.90-8.10 บาท/หุ้น

#OKJ #ทันหุ้น-บล.บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด(มหาชน) หรือ OKJ ซึ่งทำธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ โอ้กะจู๋ โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 2568 ที่ 4,824-4,934 ล้านบาท หรือเทียบเป็นราคาที่ 7.90-8.10 บาทต่อหุ้น
โดย OKJ แบรนด์ชั้นนำด้านร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยผักออร์แกนิคจากสวนและวัตถุดิบที่สดใหม่ระดับพรีเมียม OKJ โดยแบรนด์โอ้กะจู๋ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค สะท้อนได้จากความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าจากเชียงใหม่ จำนวน 1 สาขาในปี 2556 มายังกรุงเทพฯ ชลบุรี และระยอง เป็น 36 สาขา ณ 15 ส.ค. 22567 (รวมร้านรูปแบบ Fullservice restaurant และ Delivery & Kiosk)
นอกจากนี้ OKJ ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำสินค้าไปจำหน่ายในร้าน Café Amazon จำนวนประมาณ 450 สาขา ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วถึงและกว้างขวางขึ้น เพิ่มความถี่ในการซื้อซ้ำ รวมถึงช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการสร้าง และตกแต่งร้านอาหาร
**คาดรายได้ 3 ปี(67-69) โตต่อเนื่อง
ทั้งนี้ OKJ มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงเฉลี่ย 47% ในปี 2564-2566 และฝ่ายวิจัยบัวหลวง คาดการณ์รายได้โตต่อเนื่องเฉลี่ย CAGR 23% ในปี 2567-2569 จากปัจจัยที่สำคัญคือ แบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค การเติบโตของอุตสาหกรรมร้านอาหารเพื่อสุขภาพ วิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถของผู้บริหาร
กลยุทธ์การขยายสาขาต่อเนื่อง การให้ความสำคัญในการคิดค้นพัฒนาเมนูใหม่ๆ และกลยุทธ์ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้มีจำนวนลูกค้าใช้บริการเพิ่มข้ึน 2 เท่าตัวจากปี 2564 มายัง 2566 และรายได้จากสมาชิกคิดเป็น 20% ของรายได้รวมปี 2566
ขณะเดียวกัน OKJ ต่อยอดไปสู่แบรนด์ใหม่ Oh! Juice และ Ohkajhu Wrap & Roll ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดในช่วงไตรมาส 2/67 โดย ณ 15 ส.ค. 2567 มีร้าน Oh! Juice จำนวน 4 สาขา และ Ohkajhu Wrap & Roll จำนวน 1 สาขา โดยฝ่ายวิจัยบัวหลวง คาดการณ์ว่ารายได้จากการเปิดสาขาใหม่จากทั้งแบรนด์โอ้กะจู๋และแบรนด์ใหม่จะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของบริษัท พิจารณาจากศักยภาพของแบรนด์โอ้กะจู๋ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวได้เร็ว การเติบโตของตลาดอาหารและเครื่องดื่ม และช่องว่างและโอกาสทางการแข่งขัน
ฝ่ายวิจัยบัวหลวงคาดกำไรสุทธิปี 2567ของ OKJ อยู่ที่ 208 ล้านบาท (+48% YoY) และปี 2568 ที่ 271 ล้านบาท (+30% YoY) การเติบโตของกำไรมาจากรายได้และอัตราการทำกำไรขั้นต้น (GM) ขยายตัว โดยฝ่ายวิจัยคาดรายได้เติบโต 42% YoY ในปี 2567 และในปี 2568 เติบโต 29% YoY ซึ่งมาจากการเติบโตของรายได้ แบรนด์หลักอย่างโอ้กะจู๋(94% ของรายได้ปี 2567) จากยอดขายต่อสาขาเดิมเติบโต (SSSG) และ การขยายสาขาใหม่
นอกจากนี้ ปี 2567 บริษัทมีการเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ คือ ร้านเครื่องดื่ม Oh! Juice และร้าน Ohkajhu Wrap & Roll โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภท สลัด แร๊พสลัด (grab & go) ซึ่งทำให้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์รายได้เติบโตเฉลี่ย CAGR 26% ต่อปี ในปี 2567-2569 อีกทั้งคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจาก 45.2% ในปี 2567 เป็น 45.8% ในปี 2569
ทั้งนี้ประมาณการกำไรมี Upside หากการเปิดสาขาใหม่เป็นไปตามเป้าของบริษัท เนื่องจากฝ่ายวิจัยบัวหลวงคาดว่า การเปิดำนวนสาขาใหม่ โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ Oh! Juice จะน้อยกว่าเป้าของบริษัท เนื่องจากการ แข่งขันที่สูง การเพิ่มขึ้นของแบรนด์เครื่องดื่มจำนวนมาก ประกอบกับเทรนด์การบริโภคที่มีการเปลี่ยน อย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายวิจัยบัวหลวงคาดจำนวนสาขาเปิดใหม่ของทั้ง 3 แบรนด์หลัก ในปี 2567 จำนวน 25 สาขา เท่ากับเป้าหมายของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้มีการเจรจาการเช่าพื้นที่ไว้แล้ว และสาขาใหม่ปี 2568-2569 จำนวน 30 สาขา และ 20 สาขา ตามลำดับ ทำให้ณ สิ้นปี 2571 ฝ่ายวิจัยคาดการณ์จำนวนสาขาของทั้ง 3 แบรนด์รวมที่ 132 สาขา เทียบกับเป้าหมายของบริษัทที่ 157 สาขา (ไม่รวมสาขา Delivery & Kiosk จำนวน 4 สาขา)
ทั้งนี้ OKJ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 159 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.1% ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งหุ้นจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทมีแผนที่จะนำไปใช้
1) ขยายธุรกิจของบริษัท ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋ การขยายสาขาสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ใหม่ๆ การปรับปรุงสาขา และขยายช่องทางการจำหน่าย
2) ลงทุนก่อสร้างครัวกลางแห่งใหม่ และการพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบสินค้าคงเหลือ ระบบการขนส่ง และสำนักงาน เป็นต้น
3) ลงทุนและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก รวมถึงการสร้างสถานที่ตรวจสอบคุณภาพผลผลิต (In-house lab) เป็นต้น
4) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
