รีเซต

ผื่นแดง คันผิวหนัง! เช็กอาการ "โรคแพ้แสงแดด" พร้อมเคล็ดลับป้องกันอันตราย

ผื่นแดง คันผิวหนัง! เช็กอาการ "โรคแพ้แสงแดด" พร้อมเคล็ดลับป้องกันอันตราย
TNN ช่อง16
16 มีนาคม 2564 ( 16:51 )
449
ผื่นแดง คันผิวหนัง! เช็กอาการ "โรคแพ้แสงแดด" พร้อมเคล็ดลับป้องกันอันตราย

วันนี้ (16 มี.ค.64) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคแพ้แสงแดดเป็นโรคที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการโดนแสงแดดสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นอาการที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ส่วนใหญ่เกิดในผู้ชายสูงอายุถึงร้อยละ 90 จะมีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณที่ถูกแสงแดดและมักจะรุนแรงและเรื้อรัง

ปัจจัยที่กระตุ้นอาการของโรคแพ้แสงแดด เช่น การใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับผิวหนังมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรเกิดการสะสม และดูดซึมสารบางอย่างเข้าสู่ผิวหนังจนมีปริมาณมากพอ เมื่อออกไปโดนแสงแดดทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดด และการยาที่ใช้ รักษาโรคทั่ว ๆ ไป เช่น ยาเบาหวาน เป็นต้นแต่โรคแพ้แสงแดดรักษาหายได้จากเคล็ดลับง่าย ๆ ด้วยการดูแลและป้องกันผิวหนังจากแสงแดด

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคแพ้แสงแดดส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของสารบางอย่างจากการใช้เครื่องสำอาง และการกินยาบางอย่าง เช่น ยาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเชื้อรา และยากลุ่มซัลฟา ในกรณีที่แพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งแสงแดดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นหลังจากกินยาภายใน 7 วัน ถ้ามีอาการแพ้ยาและแพ้แดดจะมีผื่นแดง ตกสะเก็ด

อาจมีน้ำเหลืองไหลในบางราย และมีอาการคันมาก ควรสังเกตและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแล้วหลีกเลี่ยง โดยการหยุดยา หรือเปลี่ยนเครื่องสำอางที่เคยใช้ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปเอง อาการเริ่มแรกของโรคแพ้แสงแดดจะคันบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดมีผื่นแดงเฉพาะบริเวณนอกร่มผ้า ได้แก่ ใบหน้า หน้าผาก โหนกแก้ม คอ หน้าอก แขนด้านข้าง ขาส่วนนอกกางเกง หลังเท้า

ถ้าอาการกำเริบมากขึ้นจะมีผื่นนูน คัน ตั้งแต่ศีรษะจนไปถึงข้อเท้า ผิวหนังมีอาการคล้ายผิวคางคก และบางทีมีน้ำเหลืองร่วมด้วย ซึ่งร่างกายจะแสดงอาการเมื่อผิวหนังโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคแพ้แสงที่มีอาการมากส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงแดด คือหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เป็นเวลานานหากจำเป็นให้ใช้วิธีป้องกันโดยกางร่ม สวมหมวกปีกกว้างใส่เสื้อแขนยาว สวมแว่นตากันแสงแดด กินอาหารให้ครบถ้วน ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทาครีมบำรุงผิว และครีมกันแดดสม่ำเสมอ

หากจำเป็นต้องสัมผัสสารเคมีที่ระคายเคืองควรใช้วัสดุป้องกัน เช่น ถุงมือ รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลพิษ ไม่ใช้สารเสพติด ไม่สูบบุหรี่ หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น สีผิวคล้ำมากขึ้น ผิวหนา หรือขรุขระมากขึ้น กดผิวแล้วเจ็บ ผิดปกติ หรือมีอาการชาที่ผิวให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง