รีเซต

5 กลุ่มโรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง ที่พบบ่อย หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

5 กลุ่มโรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง ที่พบบ่อย หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
NewsReporter
15 กันยายน 2565 ( 10:27 )
348
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความรู้โรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง ที่พบบ่อย ตามความลึก และตำแหน่งของการอักเสบ พร้อมอธิบายถึงสาเหตุ และการดูแลรักษา ป้องกัน หมั่นสังเกตผิวหนังตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง
 
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผิวหนังของคนเราจัดเป็นด่านแรกที่จะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ เมื่อใดที่มีปัจจัยให้ผิวหนังของเราอ่อนแอลง หรือ ความสมดุลของเชื้อประจำถิ่น (normal skin microbiota) เสียไป จะทำให้เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าสู่ผิวหนัง และก่อให้เกิดโรคการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง จัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย หมั่นดูแลรักษาสุขอนามัย รักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าโดยไม่สวมรองเท้า รวมถึงการตัดเล็บให้สั้น ตรวจสอบเท้ารวมถึงผิวหนังของตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีแผลให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดพร้อมทั้งทำแผลอย่างถูกต้อง ถ้ามีผื่นโรคผิวหนังอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาเพราะรอยโรคดังกล่าวอาจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปก่อโรคยังผิวหนังได้
 
 
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 กลุ่มโรคใหญ่ๆ เรียงตามความลึก และตำแหน่งของการอักเสบ ดังนี้
 
 
1.โรคพุพอง (Impetigo) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหนังกำพร้า ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ตื้นที่สุดของผิวหนัง โรคนี้มักพบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งอาจเป็นชนิดที่พบตุ่มน้ำร่วมหรือไม่พบก็ได้ อาการเริ่มแรก จะมาด้วยตุ่มสีแดง ที่แถวใบหน้า หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ระยะถัดมาตุ่มจะแตกออก และพบเป็นลักษณะรอยถลอกตื้นๆที่มีสะเก็ดหนองสีเหลืองอมน้ำตาล คล้ายสี “ น้ำผึ้ง ” คลุมอยู่ด้านบน ในบางรายอาจจะมีอาการไข้หรือต่อมน้ำหลืองโตร่วมด้วยได้
 
 
2. โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis), ฝี (Furuncle/abscess), และ ฝีฝักบัว (Carbuncle) เริ่มต้นเป็นการอักเสบของรูขุมขน มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง หรือตุ่มหนองขึ้นที่ตำแหน่งของรูขุมขน ตำแหน่งที่พบบ่อย เช่น ใบหน้า(แถวเครา), ศีรษะ, หน้าอก, หลัง, รักแร้, และ แก้มก้น เป็นต้น ซึ่งถ้าการอักเสบรุนแรง และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง อาจพบเป็นไตแข็งๆที่มีหนองสะสมอยู่ภายในที่เรียกว่า ฝี (Furuncle/abscess) และหากพบฝีหลายๆ อันอยู่รวมกลุ่มกันโดยมีช่องทางเชื่อมต่อกัน เราจะเรียกรอยโรคนี้ว่า ฝีฝักบัว (Carbuncle) ซึ่งเมื่อเป็นโรคในกลุ่มนี้แล้ว มักมีอาการไข้, อ่อนเพลีย, หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ โรคในกลุ่มนี้หายช้า และมักจะทิ้งรอยแผลเป็น
 
 
3.โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) เป็นการอักเสบที่ส่วนบนของผิวหนังชั้นแท้ ซึ่งอาการจะแสดงออกมาหลังได้รับเชื้อ 2 - 5 วัน โดยจะเริ่มด้วยอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ในมีกี่ชั่วโมงถึงวันถัดมา จะพบอาการผื่นแดงเป็นปื้น บวม กดเจ็บ ที่มีลักษณะเป็นขอบเขตชัด และมีการลามของผื่นอย่างรวดเร็ว ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ ขา รองลงมาคือ ใบหน้า มักพบร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต
 
 
4. โรคเนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการอักเสบที่ส่วนล่างของผิวหนังชั้นแท้จนถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการไข้ หนาวสั่นและ อ่อนเพลีย ร่วมกับมีผื่นที่มีลักษณะบวม แดง ร้อน ขอบเขตไม่ชัดและมีอาการปวด ผื่นสามารถ ลามขยายขนาดออกกว้างขึ้นแต่ไม่เร็วเท่ากับโรคไฟลามทุ่ง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และกรวยไตอักเสบ เป็นต้น โดยในรายที่มีการอักเสบกลับมาเป็นซ้ำหลายๆครั้ง อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของระบบท่อน้ำเหลืองทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาบวมเรื้อรังได้
 
 
5.โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า (necrotizing fasciitis) เป็นโรคที่ความรุนแรงสูงที่สุดในกลุ่มการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง มีอัตราการเสียชีวิต อยู่ระหว่างร้อยละ 20 - 60 เป็นการอักเสบรุนแรงในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และพังผืดที่คลุมกล้ามเนื้อ จนเกิดภาวะเนื้อตายตามมาถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาพบแพทย์และให้การรักษาโดยเร็ว
 
 

ข้อควรปฏิบัติ

 
1.การรักษาหลักเป็นการให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค กรณีที่อาการไม่รุนแรงอาจใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน แต่หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการตามระบบต่าง ๆ ร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาฉีด ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
 
 
2.ทำความสะอาดผิวหนังและบริเวณที่เป็นแผลให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อให้สะอาด
 
 
3.หลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังและอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น4.การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การกรีดระบายหนอง การประคบแผลด้วยน้ำเกลือ เพื่อดูดซึบน้ำเหลืองออก
 
 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง