รีเซต

เตือน “เห็บเกาะ-เห็บกัด” พบบ่อยจากสัตว์เลี้ยงสู่คน ดึงเองเสี่ยงอักเสบนานเป็นปี!

เตือน “เห็บเกาะ-เห็บกัด” พบบ่อยจากสัตว์เลี้ยงสู่คน ดึงเองเสี่ยงอักเสบนานเป็นปี!
TNN Health
23 ตุลาคม 2564 ( 17:57 )
346
เตือน “เห็บเกาะ-เห็บกัด” พบบ่อยจากสัตว์เลี้ยงสู่คน ดึงเองเสี่ยงอักเสบนานเป็นปี!

ข่าว “เห็บเกาะตา” เด็กหญิงอายุ 13 ปี ที่เข้ามารักษาด้วยอาการเจ็บเปลือกตาและคัน นานกว่า 3 วัน โดยตัวเองและคนในครอบครัวไม่รู้ว่า มีเห็บซึ่งติดจากสุนัขที่เลี้ยงไว้เกาะอยู่ที่โคนขนตา


กรณีนี้ได้รับการเผยแพร่จากแพทย์ผู้รักษา นพ.ชัยชาญ สืบสุรีย์กุล เจ้าของเพชรบูรณ์คลินิก ตรวจรักษาหู คอ จมูก โดยในคลิป ติ๊กต๊อก (tiktok) คุณหมอแจ้งเตือนว่า "คนไข้มาด้วยอาการเคืองตา เจ็บตา ตรวจแล้วพบว่า เห็บกัดที่ตา คนไข้ไม่ควรดึงออกเอง หากดึงออกผิดวิธีอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในแผลมากขึ้น ทำให้แผลหายช้าและใช้เวลานานในการรักษา”


ในการนำเห็บออกจากโคนขนตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่อยๆ ใช้อุปกรณ์คีบดึงออกมา เพราะหากคีบผิดหรือดึงผิด อาจทำให้ฟันหรือเขี้ยวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเห็บ หมัด ติดอยู่ในแผลอาจจะทำให้อักเสบ และเป็นอันตรายได้ เป็นแผลนานนับปี


สำหรับเรื่อง (ไม่ลับ) ของเห็บนั้น ข้อมูลจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เห็บมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้ กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เห็บกินเลือดของสัตว์พวกสัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร คนก็เป็นเหยื่อของเห็บด้วยเช่นกัน


ส่วนมากเห็บที่กัดคนมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หรือมาจากบริเวณพงหญ้าหรือพุ่มไม้ที่เห็บหลบ อยู่เมื่อได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกาย เห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง


เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน


วิธีที่ดีที่สุดในการเอาเห็บออกจากผิวหนัง คือ การใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ผิวหนังมากที่สุด แล้วค่อยๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้หรือใช้น้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง สบู่เหลว สารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคือง และปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้ รวมถึงต้องไม่บิดหรือกระชาก ไม่ควรบีบขยี้หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมา


หลังจากเอาเห็บออกแล้ว ควรล้างมือ และผิวหนัง บริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนัง ให้ปล่อยเอาไว้ร่างกายจะพยายามกำจัดออกมาเอง อย่าพยายามแกะหรือแคะออก จะทำให้ผิวหนังเป็นเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้


คนที่โดนเห็บกัดมักจะไม่เจ็บ ไม่มีอาการ เนื่องจากเห็บปล่อยสารที่ทำให้ชา และทำให้เลือดไม่แข็งตัว ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นเห็บติดอยู่ที่ผิวหนัง ขณะอาบน้ำหรือเกา เมื่อเห็บหลุด ทั้งหลุดเองเมื่อดูดเลือดอิ่ม หรือจากการดึงออก อาจเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังเป็นตุ่มแดงคันบริเวณที่ถูกกัด ตุ่มอาจใหญ่เป็นปื้นหรือก้อนนูนได้ ตุ่มพวกนี้มักทำให้ต้องมาพบหมอ เพราะคันเหลือเกิน และเป็นตุ่มอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี


ในการรักษาตุ่มคันจากเห็บกัด ถ้าตุ่มอักเสบไม่มาก ใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ลดการอักเสบ ทาสม่ำเสมอ เช้าและเย็นผื่นก็จะดีขึ้น ถ้าอักเสบมาก เรื้อรัง ตุ่มใหญ่เป็นก้อนต้องใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บางรายอาจต้องตัดตุ่มที่อักเสบออก เพราะมีการอักเสบเรื้อรังไม่หาย จากปฏิกิริยาของร่างกาย ต่อส่วนปากของเห็บที่ติดอยู่ในผิวหนัง

—————

ที่มา:

- นพ.ชัยชาญ สืบสุรีย์กุล, เพชรบูรณ์คลินิก ตรวจรักษาหู คอ จมูก
- คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง