รีเซต

ฝนตก-น้ำท่วมต้องระวัง! 6 โรคทางผิวหนังที่ไม่ควรมองข้าม

ฝนตก-น้ำท่วมต้องระวัง! 6 โรคทางผิวหนังที่ไม่ควรมองข้าม
TNN ช่อง16
18 กันยายน 2565 ( 09:51 )
61

ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน หลายๆ พื้นที่เกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมขัง แน่นอนว่าหากเรามีกิจวัตรประจำวันที่ต้องออกไปทำงาน เดินทางไปไหนมาไหนนอกบ้านก็อาจจะเลี่ยงเจอสถานการณ์ฝนตกไม่ได้

ในช่วงนี้ทุกคนควรต้องเฝ้าระวังดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เพราะช่วงหน้าฝนเชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม 

นอกจากนี้ หากเจอสถานการณ์น้ำท่วม อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคทางผิวหนังได้เช่นกัน โดยเฉพาะ 6 โรคผิวหนังที่มากับช่วงหน้าฝน 

ภาพจาก TNN ONLINE


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 6 โรคผิวหนังที่มากับช่วงหน้าฝน โรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก และเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดต่อย โรคเท้าเหม็น และสิวเห่อ พร้อมอธิบายถึงสาเหตุ และการดูแลรักษา หมั่นสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน หน้าฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งประชาชนยังต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน อาจต้องโดนฝน ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียก ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ง่าย 

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝนคือ โรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก และเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดต่อย โรคเท้าเหม็น และสิวเห่อ หมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอหากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง

ภาพจาก TNN ONLINE


6 โรคผิวหนัง ต้องระวังช่วงหน้าฝน

ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 6 โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน คือ 

1. โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot) 

โรคผิวหนังที่เกิดกับเท้า และซอกนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes ซึ่งก็คือเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคกลากนั่นเอง ความอับชื้นของถุงเท้ารองเท้า จากการลุยฝนลุยน้ำ มีส่วนทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดี และหรืออาจติดจากสิ่งของเครื่องใช้ที่มีเชื้อนี้อยู่ก็ได้ และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ 

การดูแลรักษา 

สามารถให้ยาทาฆ่าเชื้อราภายนอก หรือพิจารณาให้ยารับประทาน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ความกว้างของพื้นที่ติดเชื้อ และภาวะภูมิต้านทานของผู้ป่วยเองด้วย 

2. โรคกลาก (Dermatophytosis) และเกลื้อน ( Tinea Versicolor) 

โรคผิวหนังติดเชื้อรา โดยกลากเป็นเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte เช่นเดียวกันกับโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถเป็นกับผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอับชื้นเช่นขาหนีบ ก้น ส่วนเกลื้อนเป็นเชื้อรากลุ่ม Pityriosporum ซึ่งจะให้ลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างกัน 

การดูแลรักษา ก็เช่นเดียวกับโรคน้ำกัดเท้า และทั้งสองกลุ่มโรคนี้ ควรต้องรักษาความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ 

3. โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic eczema) 

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีความไวต่อการเกิดผื่น โดยผื่นอาจถูกกระตุ้นให้เห่อขึ้นได้ เมื่อมีความชื้นมาก เหงื่อที่ระบายได้ยาก และการเสียดสี แม้แต่การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียเล็ก ๆ น้อย ๆ บนผิวหนัง ก็สามารถทำให้ผื่นภูมิแพ้แย่ลงได้ 

การดูแลรักษา คือการดูแลความสะอาดด้วยสารทำความสะอาดที่ไม่รุนแรงต่อผิว เลือกทาครีมบำรุงเป็นประจำที่ไม่มีสารก่อระคายเคืองเข่นน้ำหอมหรือสารเร่งให้ขาว เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป 

ภาพจาก TNN ONLINE


4. ผิวหนังอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย 

ในฤดูฝนอาจมีแมลงต่าง ๆ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยเฉพาะแมลงบิน แมลงดูดเลือด อย่างเช่นยุงชนิดต่าง ๆ ริ้นดำ ริ้นทะเล และแมลงอื่นที่ไม่ได้มากัด เราแต่อาจมาสัมผัสโดนโดยบังเอิญ เช่น ด้วงก้นกระดก แมลงเหล่านี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังแล้วก็อาจจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละราย และบางชนิดก็อาจเป็นพาหะนำโรคอื่น ๆมาด้วย 

การดูแลรักษา เมื่อถูกกัดหรือถูกสัมผัสโดน ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้าผิวหนังมีผื่นหรือมีอาการคัน อาจใช้ยาสำหรับทาแมลงสัตว์กัดต่อยทาบริเวณที่เป็นได้ แต่หากมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือบวมเจ็บผิดสังเกตให้รีบไปพบแพทย์ 

5. เท้ามีกลิ่นเหม็น ( Pitted keratolysis) 

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่หนังเท้าชั้นนอก พบบ่อยเมื่อเท้ามีความอับชื้นอยู่นาน มีเหงื่อออกเท้ามาก สวมรองเท้าถุงเท้าที่ระบายเหงื่อหรือความชื้นได้ไม่ดี มีหนังฝ่าเท้าหนา น้ำหนักตัวมาก หรือเป็นเบาหวานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมโรคนี้ได้ ฝ่าเท้าอาจจะมีลักษณะเป็นขุย หรือหนา หรือลอก หรือเมื่อดูใกล้ๆจะพบว่ามีรูพรุนเล็ก ๆ มากมายบริเวณฝ่าเท้า และด้านล่างของนิ้วเท้า มักไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจจะทำให้เสียบุคลิกภาพ 

การดูแลรักษา ให้ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอก เช็ดทาให้ทั่วบริเวณที่เป็น หมั่นดูแลความสะอาด ปรับเปลี่ยนถุงเท้ารองเท้า หรือรักษาภาวะเหงื่อเท้ามากเกินถ้ามี 

6. สิวเห่อ (Seasonal aggravation of acne) 

ความร้อนและความชื้นล้วนมีผลต่อทั้งปริมาณ และการอักเสบของสิว หลายคนอาจจะสังเกตว่าสิวเห่อขึ้นกว่าปกติ ความอบอ้าวส่งผลต่อเชื้อบนผิว การเปิดของ รูขุมขน การทำงานที่เพิ่มขึ้นของต่อมไขมัน เหล่านี้ส่งผลต่อสิวบนใบหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

การดูแลรักษา ดูแลความสะอาด หากอักเสบหรือเห่อมากควรพบแพทย์ ใช้ยาสิวอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน เลือกหน้ากากที่ไม่ระคายผิวจนเกินไป




ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง