รีเซต

เทคโนโลยีสร้างสรรค์งานศิลปะ I TNN Tech Reports Weekly

เทคโนโลยีสร้างสรรค์งานศิลปะ I TNN Tech Reports Weekly
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2566 ( 13:37 )
33



ปัจจุบัน นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของคนในยุคดิจิทัลได้อย่างกลมกลืนแล้ว ยังมีส่วนในการสร้างสรรค์และยกระดับวงการศิลปะได้อย่างลงตัวอีกด้วย โดยเราจะเห็นได้จาก การซื้อขายภาพวาดที่อยู่ในรูปแบบของ NFT หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ เช่น ชุดภาพ “ลิงหน้าเบื่อ” หรือ Bored Ape ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เป็นต้น




AI สร้างภาพ... 


นอกจากการนำภาพวาดไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว เราจะเห็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์งานศิลปะอื่น ๆ อย่างเช่น DALL-E2 โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่สามารถสร้างภาพสุดล้ำ จากการเขียนคำบรรยาย โดยเมื่อเราใส่คำบรรยายดังกล่าวลงไปแล้ว AI จะสร้างภาพ จากคำอธฺิบายนั้นออกมา




หรือ Midjourney ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์ภาพเหนือจินตนาการได้ โดยที่การทำงานจะคล้ายกันกับ DALL-E2 คือการใช้คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญในการสร้างภาพ แต่จะต่างก็ตรงที่ลายเส้นและสไตล์ภาพเท่านั้น โดย Midjourney สามารถที่จะปรับความคมชัด ขนาดรูป และสร้างภาพ 3D ออกมาได้ ซึ่งความเจ๋งของ Midjourney ก็ทำให้นิตยสารจากเกาะอังกฤษอย่าง The Economist ตีพิมม์ภาพจากตัว AI มาวางจำหน่ายในฉบับมิถุนายน ปี 2022 


AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ ?


ชวลิต แก้วมณี, Head of Character Animation ของ The Monk Studio กล่าวว่า :


"ก็ได้ไปลองมาแล้วเหมือนกัน ซึ่งก็ตื่นเต้นนะ ส่วนตัวผมมองว่าพวกนี้เป็นเทคโนโลยีโปรแกรมที่มาช่วยในเรื่องของการทำงาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราต้องไปขอให้เพื่อนวาดให้หน่อย หรือว่าต้องใช้แผนกอาร์ตประมาณ 3 - 4 คน และใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการวาดมันออกมา 


แต่พอมีโปรแกรมอะไรพวกนี้ ผมรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น ใครก็สามารถวาดภาพได้แล้วคราวนี้ ใครก็สามารถพิมพ์คีย์เวิร์ด เพื่อสร้างรูปออกมาได้ ซึ่งผมว่าช่วยให้ทุกคนสามารถที่จะเอาไอเดีย ที่อยู่ในหัวออกมาเป็นรูปได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี มันก็ยังต้องอาศัยอาร์ติสท์ ที่ต้องเข้าไปทำอะไรต่อยอดจากตรงนั้นอยู่ดี "



มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการทำ Animation กัน 


Animation คือการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว โดยเราใช้ศิลปะแล้วก็เทคโนโลยีมาผสมกัน ทำให้ขอบเขตของจินตนาการไปไกลจนถึงขั้นไร้ขอบเขต หลัก ๆ แล้วแอนิเมชันแบ่งได้ทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ


1. แอนิเมชันแบบ 2มิติ (2D) : ภาพที่ออกมาจะเห็นได้ในแนวกว้างและยาว เช่น ภาพยนตร์ขวัญใจเด็ก เรื่อง Lion King

2. แอนิเมชันแบบ 3 มิติ (3D) : จะมีความเหมือนจริงมากกว่า คนดูจะมองเห็นได้ ทั้งแนวกว้าง ยาว และแนวลึก เช่น ภาพยนตร์ เรื่อง Frozen  


โดยกว่าจะออกมาเป็นผลงานแอนิเมชันสักเรื่อง มันต้องผ่านขั้นตอนที่หลากหลายทีเดียว ยิ่งถ้าเป็นสมัยก่อน ยิ่งต้องใช้เวลาที่นาน เพราะต้องเริ่มต้นด้วยการวาดภาพลงในกระดาษจำนวนหลายแผ่น นำมาเรียงต่อกัน จนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว แต่ในปัจจุบันนี้นั้นง่ายขึ้น เนื่องจากมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น



ส่วนขั้นตอนการสร้างผลงานแอนิเมชัน 1 เรื่อง จะมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

- เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับบทภาพยนตร์ ระหว่างผู้ผลิตทุกฝ่าย 

- ออกแบบตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก สถานที่ รวมถึงแสง สีที่จะปรากฏในชิ้นงาน 

- จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการวาดภาพ โดยจะต้องแปลงบทตัวหนังสือมาเป็นภาพวาด ที่มีเนื้อหาและเรื่องราวครบถ้วน หากเป็นแอนิเมชัน 2 มิติ ภาพวาดจะถูกส่งต่อไปเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หากเป็นแอนิเมชัน 3 มิติ จะต้องผ่านโปรแกรมการออกแบบเพื่อให้เกิดความสมจริง




นที คูณจตุรภัทร, Lead IT Engineer ของ The Monk Studio กล่าวว่า :


"เดี๋ยวนี้คือ เรามีโปรแกรมทุกอย่างสามารถให้ตัวโปรแกรม สามารถจัดการของมันเองได้ เราสามารถคีย์ตรงนี้ได้ ว่าโอเคเราอยากให้ขยับอย่างนี้ เราคีย์ปึ๊บอ่ะมันขยับตาม"


การพัฒนาคนเพื่อใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ?


หากมีเทคโนโลยี แต่ไม่มีคนที่มีทักษะด้านการสร้างสรรค์ ผลงานแอนิชันก็อาจจะไม่เกิด ดังนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การพัฒนาเทคโนโลยี คือการพัฒนาคนให้มีทักษะและฝีมือ โดยเฉพาะนักพัฒนาชิ้นงาน 3 มิติ หรือ 3D Developer เพื่อใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานแอนิเมชัน




ขณะที่หนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชันสัญชาติไทยที่ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปี และสามารถคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว อย่าง The Monk Studio ก็เป็นหนึ่งองค์กรที่มองเห็นศักยภาพเด็กไทย และพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในแวดวงแอนิเมชัน ด้วยการบรรยายให้ความรู้ตามสถานศึกษา


โดยแอนิเมชันไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า ระบุว่าในปี 2563 อุตสาหกรรมแอนิเมชันไทย มีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการพัฒนาส่งเสริมบุคลากรในประเทศให้เกิดความเชี่ยวชาญ ก็อาจมีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปะจากเทคโนโลยี และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้มากกว่าเดิม




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง