รีเซต

Grab เปิดฟีเชอร์เทคใหม่ ครอบคลุมอีโคซิสเต็ม เพิ่มความปลอดภัย ไรเดอร์ลดเวลารอ ผู้ใช้สะดวกสบายขึ้น

Grab เปิดฟีเชอร์เทคใหม่ ครอบคลุมอีโคซิสเต็ม เพิ่มความปลอดภัย ไรเดอร์ลดเวลารอ ผู้ใช้สะดวกสบายขึ้น
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2567 ( 15:58 )
25

แกร็บ ประเทศไทย มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-led Organization) เผยแนวทางการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลผ่าน 3 ตัวแปรหลัก คือ 1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2. อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) 3. โซลูชันนวัตกรรมบนแอปพลิเคชัน (In-app Solutions) 




พร้อมเผยตัวอย่างนวัตกรรมล่าสุด เช่น ฟีเจอร์บัญชีครอบครัว (Family Account) ที่ผู้ใช้บริการสามารถติดตามการเดินทางและชำระค่าบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ให้กับคนในครอบครัวได้ ฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) ตู้ฝากอาหารเดลิเวอรี ลดเวลาการออกมารับอาหาร รวมถึงแผนที่ในอาคาร (Indoor Map) หรือแผนที่ทางเดินในห้าง อาคาร ช่วยคนขับประหยัดเวลาเดินหาร้านอาหาร


นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่าแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของแกร็บเริ่มต้นจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตและทำความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภค รวมถึงคนในวงจรธุรกิจ (Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็น คนขับหรือผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร ตลอดจนติดตามและเรียนรู้ประเด็นความสนใจและความท้าทายของสังคม เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลในวงกว้าง โดยปัจจุบันแกร็บมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) 2. การเพิ่มศักยภาพและผลิตผล (Productivity) 3. การยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (Experience) และ 4. การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม (Impact)




ไฮไลท์สำคัญในด้านเทคโนโลยีของแกร็บในปีนี้ ประกอบด้วย


เทคโนโลยีที่เข้าใจ “ผู้ใช้บริการ” 

เช่น บริการคำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ที่ให้ผู้ใช้สามารถแชร์กลุ่มสั่งอาหาร ส่งพร้อมกัน แต่สั่งผ่านสมาร์ตโฟนส่วนตัว ที่ได้เปิดตัวมาก่อนหน้าและยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้เผย 2 นวัตกรรมล่าสุด คือ ฟีเจอร์บัญชีครอบครัว (Family Account) ที่ช่วยเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันให้กับสมาชิกในครอบครัว โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถ ตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารผ่านแชตกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างสะดวกสบาย สามารถเพิ่มสมาชิกในครอบครัวได้มากถึง 10 คน และฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับพนักงานออฟฟิศที่ชอบสั่งอาหารผ่านแอปฯ แต่บางครั้งอาจติดประชุมหรือไม่สามารถลงมารับอาหารได้ทันที ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารและไรเดอร์ สามารถฝากอาหารได้สูงสุด 4 ชั่วโมง ปัจจุบันติดตั้ง Food Locker แล้ว 4 สถานที่ ได้แก่ The PARQ, FYI Center, The 9th Towers และ Centralworld Office


เทคโนโลยีที่เสริมประสิทธิภาพ “คนขับและไรเดอร์” 

แกร็บนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning (ML) มาช่วยในระบบจัดสรรงานสำหรับคนขับและวางแผนระบบปฏิบัติการหลังบ้าน ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) ที่ใช้ ML มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับเพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด แกร็บเปิดเผยว่าสามารถลดระยะเวลาไรเดอร์ในการรออาหารได้ประมาณร้อยละ 50 และการพัฒนาแผนที่ในอาคาร (Indoor Map) ที่ช่วยแนะนำเส้นทางและบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึงร้อยละ 20


เทคโนโลยีที่เสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับ “ผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร” 

หนึ่งในนวัตกรรมล่าสุดของแกร็บคือการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยให้สร้างหรือออกแบบภาพอาหารที่ใกล้เคียงของจริงที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าและเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้าน แต่อย่างไรก็ตามจะมีตัวอักษรกำกับว่ารูปภาพดังกล่าวสร้างขึ้นด้วย AI ทั้งนี้ Grab เปิดเผยว่าเท่าที่เปิดใช้งานแล้วร้านอาหารมียอดขายดีขึ้น ในขณะที่ฝั่งผู้ใช้บริการก็ไม่มีการรายงานว่าอาหารที่ได้รับไม่ตรงกับรูปภาพที่โฆษณา นอกจากนี้แกร็บยังพัฒนาบริการสินเชื่อดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยี ML มาใช้ประเมินศักยภาพและอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้า


เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนา “สังคมและสิ่งแวดล้อม” 

มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความปลอดภัยระหว่างเดินทาง อาทิ ระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authentication) ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Real-time Trip Monitoring) หรือระบบบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ ขณะเดียวกัน แกร็บยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรับมือกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก (Plastic Cutlery Opt-Out) และ ฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเพื่อนำเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิตและปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจและการมีส่วนร่วมอย่างดีจากผู้ใช้บริการ



เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมศักยภาพของ “พนักงาน” 

เพื่อมุ่งสู่การเป็น AI-led Organization ในปีนี้ แกร็บได้ส่งเสริมและผลักดันให้พนักงานทั่วทั้งภูมิภาคก้าวทันเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านโปรแกรมพัฒนาและฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้น โดยเฉพาะ Generative AI  พร้อมพัฒนาเครื่องมือที่ออกแบบโดยทีมเทคภายในองค์กร เช่น โปรแกรม GrabGPT เครื่องมือที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ และ โปรแกรม Mystique เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ


นายวรฉัตรให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สำหรับแกร็บไม่ได้มุ่งเน้นการใช้หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องล้ำสมัยที่สุด แต่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของคนในอีโคซิสเต็มและประโยชน์ของเทคโนโลยี คือ ต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาของคนในอีโคซิสเต็มได้จริง ๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม




ที่มาข้อมูล หมายข่าวประชาสัมพันธ์จาก แกร็บ ประเทศไทย

ที่มารูปภาพ TNN Tech, แกร็บ ประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง