รีเซต

โฆษณาปลอมเกลื่อน หนึ่งในรายได้ FB-IG หรือกำไรจะสำคัญกว่าความปลอดภัยผู้ใช้งาน

โฆษณาปลอมเกลื่อน หนึ่งในรายได้ FB-IG หรือกำไรจะสำคัญกว่าความปลอดภัยผู้ใช้งาน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2568 ( 14:16 )
13

เชื่อว่า ทุกวันนี้ เกือบทุกคนต่างก็ต้องมีบัญชี Facebook หรือ Instagram ไว้พูดคุยกับเพื่อน ๆ แชร์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รวมไปถึงการทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวก และสร้างรายได้ให้กับพวกเรามากขึ้น 


แต่ในทางกลับกัน กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็ได้มองเห็นช่องทางสว่างที่จะกอบโกยรายได้มหาศาลจากช่องทางออนไลน์นี้เช่นกัน ด้วยการสร้างโฆษณาหลอกลวงต่าง ๆ มากมาย เพื่อจูงใจผู้คน และหลอกเอาเงินพวกเขาไป 


โฆษณาปลอมเกลื่อน Facebook-Instagram ดูดเงินผู้ใช้บัญชี


สำนักข่าว Wall Street Journal เผยว่า ผู้คนทั่วโลกหลายคนเคยถูกหลอกเอาเงินผ่านจาก Facebook และ Instagram ด้วยการหลงเชื่อโฆษณาปลอม ที่บอกว่า จะมอบส่วนลดราคาพิเศษ ขายสินค้าคุณภาพสูง ในราคาที่ถูกเกินจริง เช่น อาจจะให้เหตุผลว่า โรงงานของบริษัทนี้กำลังปิด จึงต้องการโล๊ะสต็อกสินค้าทั้งหมด มาเทขายราคาถูกมาก ๆ 


รู้สึกคุ้น ๆ ไหมว่า เราอาจเคยเจอโฆษณาแนวนี้ บนแพลต์ฟอร์มดังกล่าว และนั่นทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยก็ตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้ เมื่อพวกเขาโอนเงินสั่งซื้อสินค้า กลับไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ก็ได้รับสินค้าไม่ตรงปก 


ข้อมูลภายในจาก Meta บริษัทแม่ของ Facebook, Instagram และ WhatsApp ระบุว่า ปี 2022 70% ของผู้ลงโฆษณาใหม่มีแนวโน้มจะโปรโมตการหลอกลวง สินค้าผิดกฎหมาย หรือผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำ 


ขณะที่ หน่วยงานการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ของสหราชอาณาจักร เผยว่า ปี 2023 แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ Meta เป็นเจ้าของ ล้วนเกี่ยวข้องกับการหลอกเอาเงินผู้ใช้งานราว 54% หรือทุก ๆ เงิน 5 ปอนด์ที่ถูกหลอกลวงไป จะมี 1 ปอนด์ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มของ Meta 

ยากที่จะกำจัด


ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพยายามยับยั้งโฆษณาปลอมเหล่านี้ แต่ก็ยากที่จะกำจัดได้ แถมผุดขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ แล้วทำไมโฆษณาพวกนี้ ถึงไม่เคยหายไปไหนเลย 


แม้ว่าจะมีความพยายามรายงานโฆษณาจากกลุ่มมิจฉาชีพ แต่ Meta ก็ค่อนข้างที่จะดำเนินการช้า ในการลบโฆษณาเหล่านี้ เพราะว่า ต้องมีการถูกรายงานราว 8-32 ครั้ง ก่อนที่จะทำการแบน จึงทำให้โฆษณาปลอมยังสามารถแสดงบนแพลตฟอร์มต่อไปได้อีกสักพัก และถึงจะลบไปได้ 1 โพสต์ ก็ยังมีโฆษณาประเภทนี้อีกเป็นจำนวนมาก 


นอกจากนี้ พนักงานปัจจุบันและอดีตของ Meta ยังเปิดเผยว่า บริษัทยังไม่มีมาตรการที่เพียงพอเพื่อจำกัดการเข้าถึงของผู้ซื้อโฆษณา แม้จะทราบว่าผู้ใช้นั้นเคยมีพฤติกรรมหลอกลวงมาก่อนก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวอาจกระทบรายได้โฆษณาของบริษัทซึ่งเติบโตขึ้นถึง 22% ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.8 ล้านล้านบาท ซึ่งในเงินจำนวนนี้ มีรายได้จากโฆษณาปลอมอยู่ด้วย จนบางคนบอกว่า Meta นั้น สนใจกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งาน 


อย่างไรก็ตาม ทาง Meta เผยว่า บริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น มีการทดลองใช้เครื่องมือใหม่ในการจดจำใบหน้า, เตือนผู้ใช้งาน ร่วมมือกับธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น โดยปีที่แล้ว Meta ได้ลบบัญชีมากกว่า 2 ล้านบัญชี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวง และในบัญชีโฆษณาที่ถูกลบ เกือบ 70% ถูกจับได้ภายในสัปดาห์เดียว สะท้อนให้เห็นว่า Meta เพิ่มการลงทุน เพื่อต่อสู้กับโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้มากขึ้น ตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2022 

คนทั่วโลกตกเป็นเหยื่อทุกวัน


ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ การหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้จะมีข่าวออกมาเตือนอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่อได้ทุกวัน เพราะมิจฉาชีพจะเรียนรู้ และหาวิธีใหม่มากหลอกลวงผู้คนอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งไม่แน่วันหนึ่ง พวกเราอาจตกเป็นเหยื่อของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็ได้ 


รายงาน Global State of Scams ปี 2024 ระบุว่า มิจฉาชีพหลอกเงินผู้คนทั่วโลกไปได้มากถึง 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการหลอกลวงซื้อของออนไลน์ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยสุดทั่วโลก และมีเพียง 4% ทั่วโลก ที่ได้รับเงินคืน 


ขณะที่ ประเทศไทย ปี 2023 มีรายงานว่า คนไทยโดนหลอกออนไลน์ง่ายเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็น 3.1% ของ GDP 


ด้าน สสส. และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 49,845 ล้านบาทในปี 2023 


ส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อย ๆ เป็นเพราะกลุ่มมิจฉาชีพ มีการใช้เทคโนโลยี AI และคริปโทเคอร์เรนซี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการหลอกลวงร่วมด้วย และเครือข่ายใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักจะมีการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างอ่อน และเอื้อให้กลุ่มมิจฉาชีพเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ และถ้าหากเรายังไม่สามารถกำจัดเครือข่ายมิจฉาชีพให้น้อยลง หรือ หมดไป ผู้เสียหายอาจสูงขึ้นได้อีกในแต่ละปี แม้จะป้องกันมากแค่ไหนก็ตาม 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://www.wsj.com/tech/meta-fraud-facebook-instagram-813363c8

https://www.thisismoney.co.uk/money/beatthescammers/article-14202913/More-half-scams-use-Facebook-Instagram-WhatsApp-target-victims.html

https://www.chinadailyasia.com/hk/article/611954

https://www.usatoday.com/story/money/2024/11/07/scam-victims-1-trillion-losses/75967565007/

https://www.facebook.com/photo/?fbid=957947076364401&set=a.644641531028292

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง