ดวงอาทิตย์เทียมจีนทำสถิติใหม่พลาสมาคงตัวความร้อนสูง 403 วินาที
TNN ช่อง16
14 เมษายน 2566 ( 14:04 )
148
วันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา โครงการดวงอาทิตย์เทียมของจีน Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) เปิดเผยความสำเร็จทำสถิติใหม่สามารถควบคุมพลาสมาให้อยู่ในสภาวะคงตัวความร้อนสูงได้นาน 403 วินาที ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันสำหรับใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต
กระบวนการทดสอบทีมงานได้ใช้กล้องถ่ายภาพจำนวนกว่า 120,000 ภาพ เพื่อบันทึกรายละเอียดการทำงานและนำข้อมูลไปปรับปรุงระบบการทำงาน ก่อนหน้านี้โครงการดวงอาทิตย์เทียมของจีน (EAST) เคยทำการทดสอบควบคุมพลาสมาให้อยู่ในสภาวะคงตัวความร้อนสูงได้นาน 101.2 วินาที มาแล้วในปี 2020 ยืนยันความสำเร็จของเทคโนโลยีดวงอาทิตย์เทียมของจีน
โครงการดวงอาทิตย์เทียมของจีน Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน หรือ Chinese Academy of Sciences (ASIPP) เมืองเหอเฝย มณฑลอานฮุย
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีดวงอาทิตย์เทียมก้าวหน้ามากที่สุดในโลก หลักการทำงานของดวงอาทิตย์เทียมใช้เทคโนโลยีเตาแม่เหล็กโทคาแมค (Tokamak) ควบคุมการเคลื่อนไหวของพลาสมาความร้อนสูง 100 ล้านองศาเซลเซียส พลังงานความร้อนที่ได้เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน โดยใช้เชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจน (Hydrogen) หรือดีบิวเทรียม (Deuterium) พลังงานความร้อนที่ได้จากดวงอาทิตย์เทียมถูกไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
หากการวิจัยพัฒนาดวงอาทิตย์เทียมประสบความสำเร็จและสามารถนำมาใช้งานผลิตกระแสไฟฟ้ามันจะกลายเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเทคโนโลยีพลังงานในประเทศจีน เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้มหาศาลโดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่ทำลายธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้าที่ได้ถูกจ่ายไปยังภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนต่าง ๆ ของประเทศจีน ตามเป้าหมายของประเทศจีนที่ต้องการเป็นชาติแรกที่เปิดใช้งานดวงอาทิตย์เทียมผลิตกระแสไฟฟ้า
นอกจากโครงการดวงอาทิตย์เทียมของจีน (EAST) ปัจจุบันมีหลายประเทศพยายามพัฒนาดวงอาทิตย์เทียมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ดวงอาทิตย์เทียม JET และ ITER ของกลุ่มประเทศยุโรป, ดวงอาทิตย์เทียม T-15 และ T-10 ของประเทศรัสเซีย, ดวงอาทิตย์เทียม JT-60 ของประเทศญี่ปุ่น ดวงอาทิตย์เทียม SST-1 ของประเทศอินเดีย และดวงอาทิตย์เทียม NSTX และ NSTX-U ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาของข้อมูล CGTN
ที่มาของรูปภาพ Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST)