ปลูกป่าหลากชนิด กุญแจสำคัญรับมือโลกร้อน

งานวิจัยล่าสุดจากสองโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ในจีนและปานามาชี้ชัดว่า การปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ไม่เพียงช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ระบบนิเวศ แต่ยังเสริมศักยภาพของป่าในการต้านทานผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.ฟลอเรียน ชนาเบล จากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก ประเทศเยอรมนี ระบุว่า จากการศึกษาภายใต้โครงการ BEF-China ซึ่งปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ตั้งแต่ 1 ชนิดไปจนถึง 24 ชนิด พบว่าป่าที่หลากหลายสามารถลดอุณหภูมิในช่วงกลางวันฤดูร้อนได้มากถึง 4.4°C เทียบกับป่าแบบปลูกไม้ชนิดเดียว (monoculture) ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งมีชีวิตในป่า รวมถึงกระบวนการพื้นฐานของระบบนิเวศ เช่น การหายใจของดิน
ในขณะเดียวกัน งานวิจัยที่ปานามาซึ่งกินเวลานานถึง 16 ปี พบว่า ป่าหลากหลายพันธุ์ไม้มีการเติบโตที่มั่นคงยิ่งขึ้น ดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น และทนทานต่อภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งและพายุ ซึ่งจะเกิดถี่ขึ้นจากภาวะโลกร้อน
ผลลัพธ์เหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิด “การฟื้นป่าด้วยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ (rewilding-inspired forestry)” ซึ่งเสนอโดยทีมนักวิจัยจากสวีเดน นำโดย Lanhui Wang แนวทางนี้เน้นให้ธรรมชาติจัดการตัวเองผ่านกระบวนการอย่างการกระจายพันธุ์โดยธรรมชาติ การเกิดไฟป่า และการฟื้นฟูสัตว์และพืชในท้องถิ่น โดยลดการควบคุมแบบอุตสาหกรรม เช่น การปลูกระยะสั้นหรือการตัดไม้ทั้งผืน
แม้การปลูกป่าหลากชนิดจะมีศักยภาพสูงในการช่วยดูดซับคาร์บอนและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ป่าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยมลพิษที่มนุษย์ปล่อยออกมาได้ เช่น พื้นที่ป่า 11 ไร่ อาจดูดซับคาร์บอนได้เท่ากับเที่ยวบินเดียวจากยุโรปไปอเมริกากลาง
ดังนั้น การฟื้นฟูป่าที่ดีต้องควบคู่ไปกับการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ทั้งหมดนี้จึงจะช่วยให้ป่าไม้ยังสามารถเป็นปราการสำคัญในการต่อสู้กับโลกร้อนได้อย่างแท้จริง