ความทรงจำน่ากลัวไปไหน ? นักวิทยาศาสตร์ไขความลับสมองมนุษย์
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าความทรงจำน่ากลัวของเราไปไหน และมันถูกเก็บไว้ในส่วนไหนของสมองมนุษย์
การทดลองในหนู
สำหรับการศึกษานี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองกับหนูที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งมีเซลล์ประสาทที่สามารถรับรู้และตอบสนองต่อความกลัวได้ โดยทีมนักวิจัยนำหนูกลุ่มแรกมาช็อตไฟฟ้า เมื่อผ่านไป 1 เดือน จึงนำหนูกลุ่มแรกกลับมายังจุดเดิมที่มันเคยโดนช็อตด้วยไฟฟ้า พวกเขาพบว่าหนูมีอาการตัวแข็งทื่อคล้ายกับโดนช็อตด้วยไฟฟ้า
ในขณะที่หนูกลุ่มที่ 2 ไม่มีอาการแบบหนูกลุ่มแรก เพราะทีมนักวิจัยได้ใส่ไวรัสเข้าไปในหนูกลุ่มที่ 2 ซึ่งไวรัสชนิดดังกล่าวมีชื่อว่าอะดีโนไวรัส (Adenovirus) ที่มีความสามารถในการตัดการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท
โดยหลังจากศึกษาสมองของหนูทั้ง 2 กลุ่ม พวกเขาพบว่าหนูกลุ่มแรกมีการเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาของเซลล์ประสาทในคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า หรือส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก (Prefrontal cortex) ในขณะที่หนูกลุ่มที่ 2 มีการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาทในส่วนนี้อย่างเบาบาง เพราะถูกไวรัสทำลาย
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจึงสรุปว่าความทรงจำน่ากลัวถูกเก็บไว้ในสมองของหนูที่บริเวณคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งสมองของมนุษย์เองก็มีคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าเช่นเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาจึงได้ข้อสรุปจากการศึกษาทั้งหมดว่าความทรงจำน่ากลัวของเราไม่เคยหายไปไหน และมันถูกเก็บไว้ที่สมองบริเวณคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้านั่นเอง
ความกลัวในความทรงจำระยะสั้นของหนู
อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมกับหนูกลุ่มที่ 2 และพบว่าสมองของพวกมันไม่ได้ไร้ความสามารถในการจดจำความทรงจำน่ากลัวอย่างสิ้นเชิง โดยพวกมันสามารถจดจำความทรงจำน่ากลัวครั้งล่าสุดได้ แต่ไม่สามารถจดจำความทรงจำน่ากลัวก่อนหน้านั้นได้ หรือกล่าวก็คือสมองของพวกมันมีการจดจำความทรงจำน่ากลัวแบบระยะสั้น แต่ไม่มีการจดจำแบบระยะยาว คล้ายกับอาการความจำเสื่อมที่เรามักเห็นในภาพยนตร์ ที่ตัวละครไม่สามารถจำได้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน แต่สามารถจดจำเหตุการณ์ของเมื่อวานได้
ข้อมูลจาก Nature
ภาพจาก Unsplash