แผ่นแปะ ‘อัลตราโซนิก’ ผลักยาเข้าร่างกายผ่านผิวหนัง
ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) พัฒนาแผ่นแปะสำหรับผลักยาเข้าสู่ร่างกายผู้ใช้งานผ่านผิวหนังด้วยการใช้คลื่นอัลตราโซนิก (Ultrasonic Wave) แทนการใช้เข็มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นหลักการทำงานของแผ่นแปะแบบเข็มขนาดเล็ก
แผ่นแปะซิลิโคนใส
โดยแผ่นแปะดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นซิลิโคนใสที่มีความกลมและแบนสามารถแปะติดกับผิวหนังได้โดยไม่ต้องอาศัยเทปกาว ซึ่งทำมาจากซิลิโคนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโพลีไดเมทิลไซล๊อกเซน (Polydimethylsiloxane) อันเป็นวัสดุที่มักถูกนำไปใช้ทำเป็นเครื่องสำอางค์และสารหล่อลื่น
นอกจากนี้เรายังสามารถมองเห็นฉนวนทองแดงที่เชื่อมเซนเซอร์จำนวน 4 ตัว ที่ถูกฝังอยู่ในแผ่นแปะ โดยผิวด้านบนของบริเวณที่มีการฝังเซนเซอร์มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ใช้สำหรับหยดตัวยาที่อยู่ในรูปของเหลวลงไป ซึ่งตัวยาจะยึดเกาะกับแผ่นแปะด้วยแรงตึงผิว
การทำงานของคลื่นอัลตราโซนิก (Ultrasonic Wave)
สำหรับการใช้งาน เมื่อแผ่นแปะถูกนำมาแปะติดกับผิวหนัง ก็จะก่อให้เกิดแรงกด ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เซนเซอร์ทำงานและทำให้เกิดคลื่นอัลตราโซนิกที่มีความถี่มากกว่า 20 กิโลเฮิร์ต ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่หูของมนุษย์ไม่ได้ยิน โดยคลื่นอัลตราโซนิกจะทำให้ตัวยาที่อยู่ในรูปของเหลวกลายเป็นฟองขนาดเล็กและซึมผ่านชั้นผิวหนังของเราได้ในที่สุด
ในการทดลองที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยได้ทดลองใช้แผ่นแปะในการนำส่งตัวยากับผิวหนังของหมู โดยตัวยาดังกล่าวคือไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) ซึ่งเป็นวิตามินบีรูปแบบหนึ่งที่มักนำมาใช้เป็นยาและอาหารเสริม
โดยผลการทดลองพบว่าในระยะเวลาเพียง 30 นาที แผ่นแปะดังกล่าวสามารถนำส่งตัวยาเข้ากับผิวหนังของหมูได้ในปริมาณเทียบเท่ากับการใช้แผ่นแปะแบบเข็มขนาดเล็กเป็นเวลา 6 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยตั้งเป้าว่าในอนาคตจะทดลองการทำงานของแผ่นแปะกับตัวยาอื่น ๆ เช่น ยาแก้ปวดและฮอร์โมนบางชนิด รวมไปถึงการพัฒนาแผ่นแปะให้สามารถนำมาใช้ทดลองในมนุษย์ได้
ข้อมูลและภาพจาก ScienceAdvances