จุลินทรีย์บนโลกสุดแกร่ง ยึดตัวอย่างหินต่างดาวได้อย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า หลังจากที่ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยริวกู (Ryugu) ถูกส่งมายังโลก มันก็ถูกแบคทีเรียบนโลกเรา เข้าไปอาศัยอยู่อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าจุลินทรีย์บนโลก มีความแข็งแกร่งมากในการปรับตัวและตั้งถิ่นฐาน แม้กระทั่งกับวัตถุนอกโลก
ดาวเคราะห์น้อยริวกู มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 900 เมตร ถูกตรวจพบโดยยานอวกาศฮายาบูซะ 2 (Hayabusa2) ของสำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2014 และได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยริวกูในเดือนมิถุนายน 2018 จากนั้นยานได้ทำการสำรวจเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จึงได้เก็บตัวอย่างส่งกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2020
ตัวอย่างหิวดาวเคราะห์น้อยริวกูถูกแบ่ง และส่งไปยังทีมนักวิทยาศาสตร์หลายทีมเพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติม รวมไปถึงทีมวิจัยการศึกษาครั้งนี้ จากมหาวิทยาลัยอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่นำทีมโดยแมทธิว เกนจ์ (Matthew Genge) ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Space.com ว่า “เราพบจุลินทรีย์ในตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยที่ส่งกลับมา เมื่อเวลาผ่านไปก็แพร่กระจาย ก่อนที่จะตายไปในที่สุด”
นักวิจัยกล่าวว่า จุลินทรีย์ที่ตรวจพบนี้ เข้ามาตั้งรกรากในตัวอย่างหินไม่นานก่อนเริ่มวิเคราะห์ และเป็นจุลินทรีย์ที่มีต้นกำเนิดมาจากโลก เนื่องจากก่อนที่จะเตรียมตัวอย่างเพื่อศึกษา นักวิจัยได้ทำการถ่ายภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์แบบนาโน (Nano-X-ray Computed Tomography เป็นเทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงที่ใช้รังสีเอกซ์เพื่อสร้างภาพ 3 มิติที่มีรายละเอียดสูงของโครงสร้างภายในของวัตถุด้วยความละเอียดระดับนาโนเมตร) และไม่พบจุลินทรีย์เลย ดังนั้นจุลินทรีย์เหล่านี้จึงน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวอย่างสัมผัสกับชั้นบรรยากาศโลกแล้ว
โดยในตอนแรกที่พบจุลินทรีย์ นักวิจัยพบว่ามีจำนวน 11 ตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ จุลินทรีย์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 147 ตัว และจุลินทรีย์ที่นักวิจัยพบมีลักษณะเป็นแท่งและเส้นใยของสารอินทรีย์ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นจุลินทรีย์ประเภทใด โดยทีมวิจัยเผยว่า หากไม่ศึกษา DNA ของจุลินทรีย์เหล่านี้ ก็ไม่สามารถระบุประเภทที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นแบคทีเรีย เช่น สกุลบาซิลลัส (Bacillus) เนื่องจากจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นจุลินทรีย์ที่มีเส้นใยทั่วไป และมักพบในดินและหิน
งานวิจัยนี้ จึงยังไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่างดาว แต่มันบ่งชี้ว่าจุลินทรีย์บนโลกของเราแข็งแกร่งมาก โดยสามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้บนวัตถุนอกโลก หากไปอยู่บนดาวอังคารหรือดาวดวงอื่น มันก็อาจจะสามารถใช้สารอินทรีย์นอกโลกเป็นแหล่งพลังงาน และสามารถสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ได้
การศึกษานี้เป็นเครื่องย้ำเตือนให้ทีมวิจัยระวังในการศึกษาตัวอย่างที่มาจากนอกโลก โดบเฉพาะตัวอย่างหินต่างดาวที่จะถูกส่งมาในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ต้องระมัดระวังการปนเปื้อนอย่างมาก ก่อนที่จะสรุปไปว่าสิ่งที่พบ คือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตต่างดาว และอาจทำให้มนุษย์ระมัดระวังในการเดินทางสำรวจอวกาศมากขึ้น เนื่องจากหากเดินทางไปสำรวจต่างดาว ก็อาจทำให้จุลินทรีย์ที่ติดไปกับยาน ไปปนเปื้อนกับจุลินทรีย์ต่างดาว จนทำให้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ในประเด็นนี้ เกนจ์ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานอวกาศในปัจจุบัน ได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการปนเปื้อนระหว่างสิ่งที่อยู่บนโลกและสิ่งที่มาจากต่างดาวอยู่แล้ว
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Meteoritics & Planetary Science ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2024
ที่มาข้อมูล Space, Onlinelibrary.Wiley
ที่มารูปภาพ Matthew Genge et al.