World Economic Forum 2024 AI เป็นภัยหรือเป็นเพื่อน ? ส่องมุมมองจากองค์กรระดับโลก
TNN Tech ได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างจริยธรรมการใช้ AI (AI ethics) และการกำหนดกรอบการใช้งาน AI (AI regulation) ซึ่งเป็นกระแสสำคัญของโลกใบนี้ที่นำไปพูดคุยกันบนเวทีโลกอย่างงานสภาเศรษฐกิจโลก หรือในนาม World Economic Forum ที่มีผู้บริหาร ผู้นำ และคนสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกเดินทางไปพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการใช้งาน AI ในระบบเศรษฐกิจที่เมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
AI กับ World Economic Forum 2024
หนึ่งในหัวข้อหลักของการจัดงานของ World Economic Forum 2024 (WEF 2024) คือ การใช้ AI เพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม (Artificial Intelligence as a Driving Force for the Economy and Society) ที่ตัวแทนองค์กรภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลกจะเข้ามาพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว
และเนื่องจากผลลัพธ์จากการประชุมที่ดาวอสนั้นเปรียบเสมือนกับหนึ่งในการกำหนดทิศทางโลกด้านเศรษฐกิจว่าเดินหน้าและขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร การใช้งาน AI ที่เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญจึงเป็นกระแสข่าวระดับโลกด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่การปฏิรูปภาคแรงงาน การจ้างงาน และการเสริมทักษะแรงงาน ตลอดจนจริยธรรมและข้อกำหนดการใช้งาน AI ที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก
AI กับภัยคุกคามที่ถูกพูดถึงบนเวทีโลก
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) ได้เสนอข่าวการสำรวจความเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จาก 4,700 องค์กร ที่จะเข้าประชุมที่ดาวอส ซึ่งสำรวจโดย ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) บริษัทด้านบัญชีและการเงินชื่อดัง โดยผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 45 ของเหล่า CEO เชื่อว่าองค์กรของพวกเขามีโอกาส “ไม่รอด” หรือมีความเสี่ยงในการปิดกิจการเนื่องจากการมาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทศวรรษหน้า
และ CEO จากการสำรวจยังเชื่อด้วยว่า หลังจากที่ AI แพร่หลายมากขึ้นจะตามมาด้วยปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) การปล่อยข้อมูลที่โดนบิดเบือนจาก AI (Misinformation) และการก่ออคติในการให้บริการหรือการให้ข้อมูล (Bias) จากการที่ AI สร้างการรับรู้ในลูกค้าหรือพนักงานเฉพาะเนื้อหาที่ตรงกับจริตหรือความต้องการ
AI กับการพัฒนาและการสร้างรายได้ให้กับองค์กรเอกชน
อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจเดียวกันจาก PwC กลับพบว่า CEO กว่าร้อยละ 75 ในการสำรวจนั้นเชื่อว่าในอีกไม่เกิน 3 ปี Generative AI จะเข้ามาเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานของบริษัท โดยการใช้งาน Generative AI ในการเสริมทักษะลูกจ้างในองค์กร และนำมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสร้างรายได้ทั้งในผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบใหม่
ยกตัวอย่างเช่น เมตา (Meta) หนึ่งในบริษัทที่มีรายได้สำคัญจากการโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก (Facebook) ได้เข้าร่วมประชุมที่ดาวอสด้วยเช่นกัน โดย นิโคลา เมนเดลสัน (Nicola Mendelsohn) ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของเมตา (Meta Head of Global Business) ให้สัมภาษณ์กับยาฮู ไฟแนนซ์ (Yahoo! Finance) สำนักข่าวด้านธุรกิจชื่อดัง เกี่ยวกับการใช้งาน AI ของ Meta
โดยเมนเดลสันมองว่า AI ทำให้การเลือกเป้าหมายและรูปแบบการโฆษณานั้นง่ายและเจาะจงได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งปีนี้ก็จะเอา Generative AI มาใช้เรื่องการทำภาพโฆษณา รวมไปถึงการใช้ AI กับรีลส์ (Reels) ของ Facebook และอินสตาแกรม (Instagram)
การสร้างรายได้จาก AI โดยตรง เชื่อมโยง World Economic Forum 2024
นอกจากจะหารายได้จากการใช้ AI เป็นเครื่องมือแล้ว ยังมีบริษัทที่มีแผนสร้างรายได้จาก AI โดยตรงอย่าง โอเพ่นเอไอ (OpenAI) ที่ให้บริการ แชตจีพีที (ChatGPT) แชตบอตจากเทคโนโลยี Generative AI ชื่อดัง ซึ่ง สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญของ OpenAI ได้กล่าวในงานประชุมว่า ผมสบายดี ผมไม่ได้มีปัญหาใด ๆ กับโครงสร้างการบริหารบริษัท ซึ่งเป็นสัญญาณบวกกับการที่ OpenAI ผันตัวจากองค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นองค์กรเชิงพาณิชย์มากขึ้นในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านี้เกิคความขัดแย้งระหว่างแซม อัลท์แมน (Sam Altman) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO ของ OpenAI ที่ต้องการหารายได้เข้าสู่ OpenAI สวนทางกับแนวทางของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ที่ต้องการคงความเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และเป็นด่านหน้าในการวางแนวทางการใช้งาน AI ที่เหมาะสมและปลอดภัยกับมนุษยชาติ
และในปัจจุบัน Sam Altman ในฐานะผู้นำของ OpenAI ได้เข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2024 ซึ่งเป็นงานที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนองค์กรเอกชนชั้นนำอย่างเครือซีพี และองค์กรอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนไทยเข้าร่วมงานด้วย โดยการประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 19 มกราคม ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสามารถติดตามประเด็นทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประชุมได้ผ่าน TNN Tech ทุกช่องทาง
ที่มาข้อมูล World Economic Forum, Yahoo! Finance, Reuters
ที่มารูปภาพ Reuters