เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (15 มิ.ย. 2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดผู้นำนาโตระบุ ยูเครนจะต้องได้รับอาวุธหนักเพิ่มจากนาโต ด้าน 7 ประเทศสมาชิกนาโตในยุโรปประกาศส่งอาวุธให้ยูเครนเพิ่ม ผู้นำดัตช์ยอมรับ นาโตไม่ต้องการต่อสู้กับรัสเซียโดยตรง และใช้ยูเครนเป็นตัวแทน ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมกลุ่ม “คอนแทคท์ กรุ๊ป เพื่อป้องกันยูเครน” ในวันนี้ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (14 มิ.ย. 2565)
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (15 มิ.ย. 2565)
ประธานาธิบดี “มาครง” ของฝรั่งเศสระบุ จะทำทุกอย่างเพื่อหยุดปฏิบัติการรัสเซียในยูเครน และจะเดินหน้าเจรจากับรัสเซียต่อไป
ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสจะทำทุกอย่างเท่าที่มีอำนาจทำได้ เพื่อหยุดปฏิบัติการรัสเซียในยูเครน และจะเจรจากับรัสเซียต่อไป หลังปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน จ่อปากประตูของโรมาเนีย นับเป็นการคุกคามยุโรปทั้งทวีป โดยจะป้องกันความพยายามใด ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ที่บั่นทอนเสถียรภาพและก้าวร้าวต่อยุโรป
ในการกล่าวต่อทหารฝรั่งเศส 500 นาย ที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศในโรมาเนีย ในโอกาสที่ประธานาธิบดีมาครง เดินทางเยือนโรมาเนียเมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน) เพื่อเยี่ยมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพขององค์การนาโตในโรมาเนีย
มาครงกล่าวต่อไปว่า การป้องกันแนวหน้าทางด้านตะวันออกจะสามารถปกป้องยุโรปทั้งทวีป จากการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้ ไม่มีใครรู้ว่า ในหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้านี้จะเกิดอะไรขึ้น เขาจะทำทุกอย่างเพื่อหยุดปฏิบัติการรัสเซียและช่วยชาวยูเครนและกองทัพยูเครน และจะเจรจากับรัสเซียต่อไป
โรมาเนียมีพรมแดนติดกับยูเครน โดยฐานทัพที่ทหารฝรั่งเศสประจำการในโรมาเนียนี้ อยู่ห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 70 กิโลเมตรเท่านั้น มาครงได้กล่าวว่า ทหารฝรั่งเศสที่ประจำการในโรมาเนีย มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจว่า ยุโรปทั้งทวีปจะได้รับการปกป้อง
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังแนวหน้าของหลายประเทศยุโรปตะวันออก ได้แก่ โรมาเนีย, เอสโตเนีย, โปแลนด์ และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา เพื่อเสริมกำลังขององค์การนาโตในการป้องปรามภัยคุกคามต่อประเทศสมาชิก
มาครงอยู่ระหว่างเดินทางเยือนยุโรปตะวันออก เริ่มจากโรมาเนียเมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน) จากนั้นจะไปยังโมลโดวาต่อในวันนี้ (15 มิถุนายน) คาดว่า มาครงจะเยือนยูเครนด้วย พร้อมกับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี ของอิตาลีในวันพรุ่งนี้ (16 มิถุนายน)
ผู้นำนาโตระบุ ยูเครนจะต้องได้รับอาวุธหนักเพิ่มจากนาโต ด้าน 7 ประเทศสมาชิกนาโตในยุโรปประกาศส่งอาวุธให้ยูเครนเพิ่ม
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ผู้นำองค์การนาโต กล่าวเมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ว่า ยูเครนจะต้องได้รับอาวุธหนักเพิ่มจากนาโต และประเทศสมาชิกนาโตรวมทั้งประเทศหุ้นส่วนได้ให้อาวุธหนักแก่ยูเครนแล้ว และจะให้เพิ่มอีก พร้อมเตือนว่า นาโตต้องเตรียมพร้อมมากกว่าเดิม และต้องเพิ่มความแข็งแกร่งด้านอาวุธ ที่บริเวณตลอดแนวชายแดนด้านตะวันออก หลังจากที่รัสเซียปฏิบัติการในยูเครน
ผู้นำนาโตกล่าวในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 7 ประเทศสมาชิกนาโตในยุโรป จัดขึ้นที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ในกรุงเฮก โดยมีผู้นำเดนมาร์กเป็นเจ้าภาพร่วม ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดนาโต ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
มาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ เจ้าภาพการประชุม 7 ประเทศสมาชิกนาโตดังกล่าว ยอมรับว่า นาโตไม่เต็มใจที่จะต่อสู้กับรัสเซียโดยตรง และใช้ยูเครนเป็นตัวแทน ยืนยันว่า นาโตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องการส่งอาวุธให้ยูเครน เพื่อทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ ดังนั้น นาโตจำเป็นต้องแน่ใจว่า ยูเครนสามารถรับมือปฏิบัติการรัสเซียได้ และสามารถเข้าถึงอาวุธทุกอย่างที่จำเป็น
ด้าน 7 ประเทศนาโตในยุโรป ประกาศจะส่งอาวุธหนักให้ยูเครนเพิ่มในการประชุมดังกล่าว โดยกลุ่มประเทศดังกล่าว นอกจากเนเธอร์แลนด์แล้ว ยังมีโรมาเนีย เดนมาร์ก เบลเยียม โปแลนด์ โปรตุเกสและลัตเวีย
ส่วน จูเลียน สมิธ ผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำนาโต กล่าวว่า นาโตกำลังพยายามปรับตัวรับความต้องการขออาวุธเพิ่มของยูเครน ที่ “เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” ก่อนหน้านี้ เพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เบื้องต้นการส่งอาวุธให้ยูเครนเน้นที่อาวุธทำลายรถถังและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน
แต่ขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นอาวุธหนักอย่างรถถังและปืนใหญ่ ตามสภาพการต่อสู้ในดอนบาส หลังจากมิคฮาอิล โพโดลยัค ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เรียกร้องต้องการด่วนปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ 1,000 กระบอก ระบบจรวดหลายลำกล้อง 300 เครื่อง รถถัง 500 คัน ยานเกราะ 2,000 คัน และโดรนอากาศยานไร้คนขับอีก 1,000 ลำ
ขณะเดียวกัน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียมแล้ว เพื่อนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมในวันนี้ (15 มิถุนายน) ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คอนแท็กท์ กรุ๊ปเพื่อป้องกันยูเครน” (Ukraine Defense Contact Group) ที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อหารือขั้นต่อไปในการส่งอาวุธและกำลังบำรุงให้แก่ยูเครน คาดว่าจะมี 50 ประเทศส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมนี้
ภาพ : Reuters
ข้อมูล TNN World
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี