รีเซต

“จีไอ” ตัวย่อเครื่องใช้ทหาร สู่สัญญะ “ทหารอเมริกัน” และความเปลี่ยนแปลง “เพลงลูกทุ่ง”

“จีไอ” ตัวย่อเครื่องใช้ทหาร สู่สัญญะ “ทหารอเมริกัน” และความเปลี่ยนแปลง “เพลงลูกทุ่ง”
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2567 ( 12:37 )
31
“จีไอ” ตัวย่อเครื่องใช้ทหาร สู่สัญญะ “ทหารอเมริกัน” และความเปลี่ยนแปลง “เพลงลูกทุ่ง”
การเดินทางมาพักผ่อนที่พัทยาของลูกเรือ USS Theodore Roosevelt เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่มาจอดเทียบท่าในประเทศไทย ซึ่งก็คือ “ทหารอเมริกัน” หลักพันคน จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองท่องเที่ยวชายทะเลแห่งนี้ไม่มากก็น้อย 

🟠 ทหารพวกนี้ แม้แต่ในปัจจุบัน ก็อาจมีผู้ที่เรีกว่า “ทหารจีไอ” อยู่เนือง ๆ แม้จะต่างบริบทกันก็ตาม

กระนั้น หากพิจารณาตาม “ประวัติศาสตร์สังคม” ของไทย จะพบถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญ ที่สรรค์สร้างขึ้นโดยทหารอเมริกัน “จีไอ” ในแทบทุกมิติ มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “เด็กหัวแดง” ลูกครึ่งไทย-ทหารจีไอ การเกิดขึ้นของ “สถานบันเทิง” ยามค่ำคืน หรือ “ความนิยมอเมริกัน”

โดยหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ถือได้ว่าสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงในวงการ “เพลงลูกทุ่ง” ทั้งในมิติของ “คำร้อง” และ “ทำนอง” เลยทีเดียว

ร่วมติดตามบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยได้ ณ บัดนี้

🟠 เหตุใดต้องเรียก “จีไอ”

เรามักใช้คำว่าจีไอจนเคยชิน แต่น้อยคนที่จะตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว จีไอ มีรอยทางมาอย่างไร

มีการคาดเดาไปต่าง ๆ นานา ทั้งจากนักวิชาการและบุคคลทั่วไป แต่หากยึดตามหลักการทางประวัติศาสตร์จริง ๆ จะพบว่า มีที่มาจาก “Galvanised Iron” หรือ “โลหะชุบสังกะสี”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรดาข้าวของเครื่องใช้ทางทหารอเมริกัน อาทิ หม้อสนาม แก้วน้ำ กระติกน้ำ กาน้ำร้อน หรือแม้แต่หมวกสนาม ล้วนทำมาจากโลหะชุบสังกะสีทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องมีการสลักอักษรย่อ “G.I.” เพื่อให้ทราบถึงจุดนี้

ต่อมา ผู้คนตระหนักว่า หากสิ่งของใดมีการสลัก G.I. นั่นหมายความว่า “เป็นสิ่งของทางทหารอเมริกัน” และได้ลุกลามใช้เป็น “สัญญะแทนทหารอเมริกัน” ไปในที่สุด 

ถึงขนาดที่ เดฟ เบรเกอร์ นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ยังได้หยิบยืมชื่อนี้ไปตั้งเป็นหัวเรื่องการ์ตูนแนวสู้รบของตน นามว่า “จีไอโจ (G.I. Joe)” แบบที่เราคุ้นหูกันว่าเป็นของเล่นและภาพยนตร์ในปัจจุบัน

การเรียกทหารอเมริกันด้วยคำว่าจีไอนี้ ไม่ได้อยู่เพียงสมรภูมิยุโรป หากแต่ในช่วง “สงครามเย็น” คำว่าจีไอ ก็ได้แพร่ขยายมายังดินแดนตะวันออก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่พวกเขาเข้ามาตั้งฐานทัพ เพื่อสู้รบในสมรภูมิสงครามเวียดนาม และสงครามลับในลาว เสียด้วย

🟠 ทหารจีไอกับการเปลี่ยนแปลงเพลงลูกทุ่ง

การที่ทหารจีไอเข้ามาในประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะ ในเรื่องของสังคม เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุด 

ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของ “ความสัมพันธ์สาวไทยกับทหารจีไอ” ที่ให้กำเนิด “เด็กหัวแดง” ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน จำนวนพอสมควร การเกิดขึ้นของสถานบันเทิงยามราตรี ทั้งไนต์คลับ ผับ หรือดิสโกเธค ซึ่งเป็นเพิ่ม “พื้นที่ทางเวลา” ในสังคมไทยมากขึ้น รวมไปถึง ความนิยมเป็นอเมริกัน ทั้งเรื่องการแต่งกาย การทำผม และการฟังเพลง ที่ออกแนว “เปิ๊ดสะก๊าด” ตามสากลโลก

ทั้งหมดนี้ ได้สะท้อนออกมาผ่าน “การเปลี่ยนแปลงของเพลงลูกทุ่ง” อย่างเห็นได้ชัด

🟠 เพลงลูกทุ่งนั้น ในยุคแรกเริ่ม จะมีคำร้องและทำนอง บรรยายถึง “วิถีชีวิตแบบท้องไร่ท้องนา” โชว์ความรื่นรมย์ในชนบท หากแต่พอพวกจีไอเข้ามา ลูกทุ่งก็ต้อง “ปรับแปร” ตนเองให้ “ไปกันได้” กับวิถีแบบอเมริกันมากยิ่งขึ้น

แรกเริ่ม ลูกทุ่งไทยจะรับ “ทำนอง” มาปรับใช้ก่อน ซึ่งรับมาทั้งจากการที่ส่งทหารไทยไปร่วมรบที่สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม และรับจากในประเทศเอง 

ตัวอย่างเพลงที่สำคัญ นั่นคือ “เพชรตัดเพชร” ของคณะสุเทพโชว์ [เพลงประกอบภาพยนต์เพชรตัดเพชร] ที่ใช้แนวทำนอง “ร็อคแอนด์โรล” ในการดำเนินเพลง โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้

“เพชรตัดเพชร ต้อง เพชรตัดเพชร [x4]
ทุกสิ่งสรรค์เกิดมาเฆี่ยนกัน เช่นงูเห่านั้นพ่ายแพ้พังพอน เสือกินเนื้อส่วนนกกินหนอน
แมงกะชอนตกน้ำปลาตอด โถ......เป็นไปได้
ไม้ก็แพ้มีดและคมขวาน หินละท้านพ่ายแพ้ค้อนใหญ่ เสือโคช้างเหยียบสู้ไม่ไหว (แบนแต๊ดแต๋) ช้างตัวใหญ่พ่ายแพ้มดแดง โถ......เวทนา
*เช่นความรักฉันยังพ่ายเธอ เฝ้าแต่เพ้อรักเธอจนบ้า โอ้ชีวิตฉันใครสร้างมา
เทพเจ้าองค์ไหน
เว้นแต่เพชรตัดเพชรด้วยกัน เพชรเท่านั่น ตัดเพชรพอได้ ไม่ใช่เพชรตัดเพชรไม่ไหว
แข็งอย่างไร ตัดเพชรไม่ขาด เพชรจึงยิ่งใหญ่ (*ซ้ำ)”

🟠 แนวดนตรี “สวิง” ก็ปรากฎให้เห็น อาทิ ในเพลง “รักริงโง” ของ “ครูสุรพล สมบัติเจริญ” ที่มีเนื้อเพลง ดังนี้

“ค่ำคืนนี้มีจันทร์สวยส่องสกาว เมฆขาวพราวเรียงราย เห็นดาวเกลื่อนท้องนภาน่าใจหาย
คนรักคลายไม่มาให้ชื่น ค่ำคืนนี้ไม่มีแม้แต่เงาเธอ พี่เผลอกายเฝ้ายืน ไร้คนเกี่ยวก้อยแสนเศร้าสุดฝืน ทนเฝ้ายืนกล่ำกลืนน้ำตา
โอ้นวลน้องเนื้อทองเจ้าอยู่แห่งไหน โปรดเห็นใจพี่สักครา ย้อนคืนกลับซิน้องเอยอย่าช้า มาซิมาพี่จะพาน้องโชว์ พี่ยังรักยังคอยไม่เปลี่ยนใจ ใต้ซุ้มรักริงโง ทุกคืนค่ำพี่ยังคอยแม้นดึกโข เฝ้าร้องเพลงริงโงเรียกเธอ”

หรือแม้แต่แนวดนตรี “ฟังค์” ก็ปรากฏให้เห็น อาทิ ในเพลง “หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว” ของ “สังข์ทอง สีใส” เจ้าของฉายา “เทพบุตรหน้าผี” ซึ่งเป็นต้นฉบับที่ “แจ๊ส ชวนชื่น” นำไปดัดแปลงเป็นเพลง “แว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว” ที่โด่งดัง โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้

“หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว ต้องสังข์ทองคนเดียวใครก็ต้องเหลียวต้องเชียร์ จะไปทางไหนใคร ๆ ก็พากันประหลาด พอเห็นหน้าชัด ๆ เขาว่าสมบัติหรือเนี่ย
จะไปทางไหนต้องคอยระวัง สาว ๆ ล้อมหน้าล้อมหลัง เผื่อหวังจะได้คลอเคลีย เดินไปแถวตลาดพระโขนง แม้ค้าแม่ขายพากันงง ว่าสรพงษ์หรือเนี่ย
*พูดถึงความหล่อมิใช่ยอตัวเอง พูดถึงเรื่องร้องเพลง ผมนี้ก็เก่ง มิใช่แต่เชียร์ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ฟังกันได้ถ้วนหน้า พอเห็นตัวจริงต้องผวา ว่าคุณไชยาหรือเนี่ย
หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว ต้องสังข์ทองคนเดียวใครก็ต้องเหลียวต้องเชียร์ เดินไปแถวศูนย์การค้าสยาม สาว ๆ พากันวิ่งตาม เขาถามว่าคนหรือเนี่ย 
(*ซ้ำ)”

แน่นอน ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกับบรรดา “เพลงแปลง” ที่ลอกทำนองอเมริกันมาทั้งหมด เปลี่ยนเพียงเนื้อร้อง อาทิ เพลง “น้ำมันแพง” ของ “ครูสรวง สันติ” ที่นำทำนองเพลง “Jingo” ของ “ซันตานา” มาปรับใช้ และฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้

“น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรเราก็เริ่มฝอย ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย น้ำมันมีน้อยมืดหน่อยก็ทนเอานิด
น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ดูอะไรมันก็มืดมิด ถูกนิดถูกหน่อยอย่าถือ มือมันชอบสะกิด ถูกน้อยถูกนิด ก็อย่าไปคิดอะไรเลย
พวกเราชาวนาชาวไร่ ห่างไกลบางกอกหนักหนา ไม่มีไฟฟ้า อย่าไปฝันถึงมันเลย เรามาจุดตะเกียง ไม่ต้องเสี่ยงทรามเชย แต่โอ้อกเอ๋ยน้ำมันดันมาแพง
น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ขวัญใจไม่ต้องระแวง ถ้าพี่ก้าวก่ายล่วงเกิน เชิญให้น้องคิดแช่ง ความรักรุนแรง น้ำมันแพงเลยดับไฟคุยกัน”

ทั้งนี้ ในส่วนของ “เนื้อหาเพลง” ก็ได้มีการปรับแปรไปเช่นกัน จากแต่เดิมที่เน้น “Romanticise” บ้านทุ่ง ก็เปลี่ยนมาเป็น “สะท้อนสังคม” โดยเฉพาะ สังคมที่มีทหารจีไอเดินกันพลุกพล่าน และรู้สึกเหมือนกับว่า ชาวไทยนั้น “Insecure” ไม่น้อย แม้จะ “หาประโยชน์” จากพวกเขาได้ก็ตาม

อย่างในกรณีเพลง “แหม่มปลาร้า” ของครูชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องโดย “สายัณห์ สัญญา” หรือ “พี่เป้า ขวัญใจคนเดิม” ที่มีเนื้อหา “เหยียด” ผู้หญิงไทยที่ได้สามีฝรั่ง โดยเน้นวิพากษ์ไปที่ “ภรรยาทหารจีไอ” โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้

“ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกา คุณหญิงดอลล่าร์ กลับมาทำไมเมืองไทย ไปกินหมูแฮม ไข่ดาว หนมปังอันใหญ่ ไอ้หนุ่มจีไอ มันคอยเอาใจ เอาใจโอ้โอ๋
จีไอนิโกร ฮัลโหลเซย์กู๊ดบาย คุณหญิงคุณนาย เสียดายนั่งร้องไห้โฮ จะหอบผ้าตามเขาไปก็กลัวโดนโห่ ต้องเดินเซโซ เข้าบังกะโลหาผัวคนไทย
โอ๊ยบอกแล้วบ่ฟัง มีผัวฝรั่งเดี๋ยวมันก็ทิ้งเจ้าไป โอ๊ย...อยากกินหมูแฮม อยากเป็นอีแหม่ม แล้วต้องมานั่งเจ็บใจ อีนางหน้ามนบ่พ้นบักไทย มีผัวจีไอสมใจละเด้อ
ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกา แม่แหม่มปลาร้า กลับมาทำไมเล่าเธอ สมน้ำหน้าจัง ฝรั่งเขาทิ้งแขวนเต่อ ไปนั่งขายเบอร์ตามบาร์ กลับมาทำไม ”

🟠 มรดกของทหารจีไอในวงการเพลงไทย

หากจะให้หยิบยกบทเพลงทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ แต่ตัวอย่างในข้างต้น ได้ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของทหารจีไอต่อเพลงการเปลี่ยนแปลงเพลงลูกทุ่ง 

เพราะอย่าลืมว่า ทหารจีไอพวกนี้คือ “ลูกค้าชั้นดีที่มีกำลังทรัพย์” ในการที่จะจ่ายเงินเพื่อธำรงเพลงลุกทุ่งไว้ได้ ดีกว่าตลาดในประเทศ ที่กำลังซื้อยังไม่มากเท่าที่ควร ทางออกจึงต้องปรับความเป็นลูกทุ่ง ให้เป็นสากล ให้หมด

แต่เรื่องน่าขบขัน นั่นคือ พอกาลเวลาผ่านไป เพลงลูกทุ่งที่ใช้ “ทำนองฝรั่ง” ก็ผสมกลมกลืนไปเป็นเพลงลูกทุ่ง แบบที่เราคุ้นหูเสียอย่างนั้น

เรื่องนี้ ลุกลามไปถึงบรรดาเพลง “ลูกทุ่งหมอลำ” ที่แต่เดิมใช้ดนตรีพิ้นบ้าน ก็ได้เติมทำนองดนตรีแบบอเมริกันเข้าไป โดยส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด นั่นคือ การดังเป็นพลุแตกของ “พรศักดิ์ ส่องแสง” ในบทเพลง “เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ” ถึงขนาดที่ “ธงไชย แม็คอินไตย์” ยังได้ขึ้นเวทีประชันกันมาแล้ว

เรื่อยมาจนถึง “ลูกทุ่งอีสาน” อาทิ จินตหรา พูนลาภ ศิริพร อำไพพงศ์ มนต์สิทธิ คำสร้อย หรือไมค์ ภิรมย์พร ก็เป็นไปในลักษณะเช่นนี้

ในด้านเนื้อเพลง ก็มีอิทธิพลของ “ไทยคำ อังกฤษคำ” ที่ผสมปนเปมาโดยตลอด ในยุคปัจจุบัน เพลงที่ฮิตอย่างมาก นั่นคือ “อ๊อด อ๊อด ” ของ “วงเดอะริชแมนทอย” โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้

“อ๊ะ อะ อา โย้ โอ้ โอ อะ อา อ๊อด อ๊อด อะ อา โย้ โอ้ โอ อ๊อด อ๊อด  อ๊ะ อะ อา โย้ โอ้ โอ อะ อา อ๊อด อ๊อด อะ อา โย้ โอ้ โอ อ๊อด อ๊อด คอย...วอนฉัน Go พบเจอ ลองเขียน Letter Letter ไปถึงเธอ She...ดั่งดอกฟ้า Inter ตัวฉัน In love In love No but you 

*มอง มอง มอง ฉันมองแต่ Telephone เมื่อไหร่เธอจะ Confirm นัดกับชายคนนี้ จอง จอง จอง ที่นั่งใน Restaurant หวังว่าวันวาเลนไทน์ปีนี้จะไปกับ You love me and I love you อยากบอกว่า Want you. Please listen to me ได้ไหม No but you เอ๋า No but you, Will you marry me. 

อ๊ะ อะ อา โย้ โอ้ โอ อะ อา อ๊อด อ๊อด อะ อา โย้ โอ้ โอ อ๊อด อ๊อด อ๊ะ อะ อา โย้ โอ้ โอ อะ อา อ๊อด อ๊อด อะ อา โย้ โอ้ โอ อ๊อด อ๊อด 

You...อาจไม่ Understand ว่า I ต้องการเป็นแฟน เป็นแฟน ควงแขนกัน I...อยากจะเป็น Someone เลย Sing a song a song มาบอก You 

(*ซ้ำ)”

เมื่อมาถึงตรงนี้ ย่อมทำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาตลอด เพียงแต่ว่าความเคยชิน ทำให้เราไม่อาจที่จะตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้อย่างง่ายดายยิ่ง

การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ด้วยประการฉะนี้

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ การสื่อสารทางการเมืองในเพลงไทยลูกทุ่ง
วิทยานิพนธ์ ประวัติศาสตร์ธุรกิจเพลงลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2507-2535
วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย พ.ศ. 2481-2535
วิทยานิพนธ์ เศรษฐกิจการเมืองในกระบวนการผลิตเพลงลูกทุ่งไทย
https://mainstand.co.th/th/features/1/article/3221
https://mainstand.co.th/th/features/5/article/3413 
https://mainstand.co.th/th/features/5/article/3272 
https://www.blockdit.com/posts/64db5c78a3713401293f5dfd 
https://www.wearethemighty.com/mighty-trending/origin-of-gis/
https://www.history.com/news/why-are-american-soldiers-called-gis

ข่าวที่เกี่ยวข้อง