รีเซต

สู่อวกาศอย่างสง่างาม! Blue Origin ทำภารกิจสำเร็จแล้ว!

สู่อวกาศอย่างสง่างาม! Blue Origin ทำภารกิจสำเร็จแล้ว!
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2564 ( 21:36 )
103
สู่อวกาศอย่างสง่างาม! Blue Origin ทำภารกิจสำเร็จแล้ว!

วันที่ 20 กรกฎาคม เวลาประมาณ 20.13 น. ตามเวลาประเทศไทย ภารกิจการบินขึ้นสู่อวกาศของ Blue Origin ที่รอคอยมาเนิ่นนานก็สำเร็จลงอย่างสวยงาม โดยยาน New Shepard ได้พาลูกเรือขึ้นไปท่องอวกาศโดยใช้เวลาเดินทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 11 นาที และสัมผัสกับบรรยากาศไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลาประมาณ 5 นาที ที่ความสูงประมาณ 110 กิโลเมตร ก่อนที่ตัวแคปซูลโดยสารจะกลับลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพอย่างปลอดภัย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชม

สำหรับภารกิจครั้งนี้ออกเดินทางด้วยยานอวกาศ “New Shepard” ซึ่งตั้งชื่อตาม Alan Shepard นักบินอวกาศอเมริกันคนแรกของโลก ตัวยานเป็นแบบ Sub-Orbital หรือยานที่บินไม่ครบวงโคจร และเป็นยานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังสามารถขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติตั้งแต่การปล่อยตัวจนถึงการลงจอดทางทะเลทรายได้อีกด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนายานมาตั้งแต่ปี 2015 และมีการทดสอบใช้งานด้วยการบรรทุกงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และงานวิจัยของ NASA มาแล้ว ก่อนที่ในวันนี้มันจะทำภารกิจส่งลูกเรือที่เป็นพลเรือน 4 คนขึ้นท่องอวกาศเป็นครั้งแรก

ความพิเศษของภารกิจครั้งนี้คือเป็นการบินขึ้นสู่อวกาศโดยที่ไม่ได้มีนักบินอวกาศหรือเจ้าหน้าที่ใด ๆ ขึ้นไปด้วย และมีลูกเรือเป็นพลเรือนทั้งหมด โดยลูกเรือได้แก่ “Jeff Bezos” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon และ Blue Origin ร่วมกับน้องชายของเขา “Mark Bezos” และยังมีลูกเรืออีกสองคนที่สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการอวกาศของโลก นั่นก็คือนักบินหญิงวัยเก๋า “Wally Funk” วัย 82 ปี ผู้เคยเข้าร่วมโครงการ Mercury มาแล้ว ซึ่งเธอจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่อายุมากที่สุดที่ได้ขึ้นไปในอวกาศ และหนุ่มน้อยวัย 18 ปี “Oliver Daeman” ที่ได้ทำลายสถิติเป็นนักบินอวกาศที่อายุน้อยที่สุดในโลก ซึ่งเขาพึ่งเข้าร่วมทีมลูกเรือไม่นานมานี้หลังจากที่ผู้ประมูลที่นั่งมูลค่ากว่า 28 ล้านดอลลาร์ได้เลื่อนกำหนดการบินออกไป

 

ถึงแม้จะปล่อยตัวช้ากว่ากำหนดการไปสักนิด แต่สุดท้าตัวยานได้ออกเดินทางสู่อวกาศอย่างสง่างามจากศูนย์ปล่อยจรวด Van Horn รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยมุ่งหน้าสู่อวกาศในแนวดิ่งด้วยตัวบูสเตอร์นำส่งแคปซูล ต่างจากของ Virgin Galactic ที่จะเป็นลักษณะของเครื่องบิน ทำให้ Blue Origin สามารถแตะระดับได้สูงกว่านั่นเอง 

 

 

หลังจากที่บูสเตอร์ถูกปล่อยตัว มันก็ได้เดินทางเข้าสู่อวกาศด้วยความเร็วเหนือเสียง 3 เท่า (MACH 3) สู่ระดับความสูงประมาณ 110 กิโลเมตร เข้าสู่เขตไร้แรงโน้มถ่วง ก่อนที่ตัวแคปซูลจะดีดออกเมื่อประมาณนาทีที่ 4 และลงจอดสู่พื้นดินด้วยร่มชูชีพอย่างปลอดภัยที่ประมาณนาทีที่ 10 รวมเวลาในการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 11 นาที โดยระหว่างที่รอออกจากแคปซูลนั้น Jeff Bezos ก็ได้ชูนิ้วโป้งและชูกำปั้นแสดงความดีใจ ก่อนที่ลูกเรือทั้งสี่คนจะทยอยออกจากแคปซูลท่ามกลางเสียงเชียร์จากคนรอบข้าง โดยตัว Jeff Bezos เองก็สวมหมวกคาวบอยอันเป็นเอกลักษณ์ออกมาหาบรรดาครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่สวมหมวกคาวบอยรอให้กำลังใจอยู่เช่นกัน

 

ความสำเร็จของ Blue Origin เรียกได้ว่าแตกต่างจากของ Virgin Galactic อยู่บ้าง โดย Blue Origin มีรูปแบบการเดินทางที่แตกต่างกว่าด้วยการใช้บูสเตอร์และแคปซูล และที่สำคัญทีมลูกเรือแรกที่ขึ้นสู่อวกาศของ Blue Origin ยังเป็นพลเรือนที่มีความหลากหลายต่างอายุกันสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณยายวัย 82 ปีที่ได้ตำแหน่งนักบินอวกาศที่อายุมากที่สุดในโลก เด็กหนุ่มวัย 18 ที่ได้ตำหนักนักบินอวกาศที่อายุน้อยที่สุดในโลก และตัว Jeff Bezos เองที่ถือตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ร่วมเดินทางกันไปในยาน New Shepard กับเที่ยวบินแรกที่จะเป็นก้าวต่อไปของความสำเร็จใหม่ ๆ ในวงการท่องเที่ยวอวกาศอย่างแน่นอน

 

เห็นเพื่อน ๆ ทำภารกิจเดินทางสู่นอกโลกสำเร็จแล้ว ก็เหลือเพียงแต่ SpaceX บริษัทขนส่งอวกาศของเศรษฐีพันล้าน Elon Musk ที่ให้คำมั่นแบบมาเหนือกว่า ด้วยการจะส่งลูกเรือพลเรือนทั้งหมดขึ้นสู่อวกาศแบบเที่ยวบินโคจรเป็นเวลาหลายวันบนแคปซูล Crew Dragon ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ เราคงได้ทราบกันในเดือนกันยายนนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters

spaceth.co

cnbc

abcnews

 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง