เปลี่ยนขยะเป็นศิลปะ ! สตูดิโอในญี่ปุ่นเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้สู่งานศิลปะเชิงนามธรรม
จากปัญหาขยะฝังกลบที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น วีพลัส สตูดิโอออกแบบอิสระสัญชาติญี่ปุ่นจึงพยายามหาทางจัดการวัสดุเหลือใช้ที่มักจะกลายไปเป็นขยะเทกองที่ไม่อาจรีไซเคิลได้ พวกเขาจึงให้กำเนิดโครงการ “รีเมนส์” (Remains) โครงการที่เปลี่ยนของไร้ค่าสู่วัสดุผสมแบบใหม่ ที่จะกลายเป็นงานศิลปะเชิงนามธรรม
ในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ เช่น แก้ว เซรามิก และคอนกรีต จากภาคอุตสาหกรรมที่ 53% ซึ่งรวมถึงวัสดุประเภทคอมโพสิต หมายถึง วัสดุที่เกิดจากการนำวัสดุทางเคมี 2 ชนิดขึ้นไปมาประกอบกันจนได้คุณสมบัติที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปหลอมละลายได้ยากเนื่องจากมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และยากต่อการคัดแยกตามประเภทของวัสดุ จะกลายเป็นขยะเหลือทิ้งจำนวนกว่า 9 ล้านตัน และต้องถูกส่งไปยังสถานที่ฝังกลบเป็นจำนวนมาก
สตูดิโอ วีพลัส ใช้โครงการรีเมนส์ เพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของวัสดุเหล่านี้ออกมาด้วยการออกแบบอย่างยั่งยืน มีขั้นตอนเริ่มต้นจากการเก็บวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมย่านชานเมืองในกรุงโตเกียว มาแยกย่อยตามแต่ละชนิด จากนั้นก็นำมาบดละเอียด และเทลงไปในแม่พิมพ์โดยใช้เตาเผาหลอม เมื่อเผาด้วยความร้อนสูงจนได้ที่ เศษแก้วที่ถูกหลอมละลายจะหน้าที่เป็นเหมือนกาวผสมชิ้นส่วนทุกอย่างเข้าด้วยกัน กลายเป็นวัสดุแบบใหม่ออกมา
ทีมงานยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลงานศิลปะจากวัสดุแบบใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นอาจเปรียบได้ว่าเป็นการจำลองชั้นทางธรณีวิทยา ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่มนุษย์ในอนาคตอันไกลจะค้นพบเมื่อพวกเขาขุดค้นชั้นหินในยุคปัจจุบันนั่นเอง โดยมีเหตุผลนอกจากจะลดวัสดุเหลือทิ้งทางอุตสาหกรรม แล้วยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะเหลือทิ้งอีกด้วย
โดยผลงานการผลิตวัสดุเหล่านี้ ถูกนำไปจัดแสดงในงาน ออบสเคียวร์ โซลูชัน "Obscure Solutions" ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยจะเป็นนิทรรศการรวบรวมงานออกแบบใหม่ ๆ ในญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนฉุกคิดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่มองไม่เห็น เช่น การกำจัดขยะ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในการดำรงชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับงานศิลปะ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล Designboom
ที่มาของรูปภาพ Weplus