รีเซต

ผูกพันทั้งชีวิต พนง.ร่ำไห้ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ปิดกิจการ หลังขาดทุนมานาน

ผูกพันทั้งชีวิต พนง.ร่ำไห้ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ปิดกิจการ หลังขาดทุนมานาน
ข่าวสด
8 มิถุนายน 2564 ( 17:40 )
164
ผูกพันทั้งชีวิต พนง.ร่ำไห้ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ปิดกิจการ หลังขาดทุนมานาน

 

ผูกพันมาทั้งชีวิต พนง.ร่ำไห้ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ปิดกิจการ หลังเปิดมากว่า 58 ปี รับขาดทุนมาตลอด 6-7 ปี ไปต่อไม่ไหว ชดเชยพนักงานตามกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 ที่โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี เทศบาลตำบลกุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีนัดหมายให้พนักงาน ลูกจ้างของบริษัทฯ มารับฟังคำชี้แจงการเลิกกิจการ หลังจากดำเนินกิจการมามากกว่า 58 ปี

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศมีการติดป้ายแบ่งสถานที่ประชุมเป็น 6 จุด คือ ข้างบ้านรับรอง, ทางไปบ้านพัก, ที่จอดรถจักรยานยนต์, ที่จอดรถยนต์, ที่จอดรถฝ่ายไร่ และหอประชุมใหญ่ ทุกจุดติดจอภาพขนาดใหญ่ ถ่ายทอดการประชุมไปพร้อมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ, อส. ในเครื่องแบบมาดูแลความสงบ ไปพร้อมกับทีมของโรงงาน “ชายในชุดซาฟารีสีดำ”

 

 

พนักงาน-ลูกจ้าง รวม 280 คน ทยอยเดินทางเข้ามารวมตัว บริเวณด้านหน้าอาคาร “สหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี” ไม่ยอมแยกไปประชุมตามจุดต่างๆ ต้องการประชุมจุดเดียวกัน โรงงานได้ขอให้นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เจรจากับตัวแทนพนักงาน-ลูกจ้าง 5 คน ว่า เป็นมาตรการเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19

 

 

จนเวลา 09.50 น. พนักงานจึงยอมเข้าประชุมแบบแยกส่วน โดยมีนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธาน บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง ขณะสื่อมวลชนได้รับแจ้งให้ออกนอกพื้นที่

 

 

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมชี้แจง มีพนักงานถ่ายภาพส่งเอกสาร ส่งออกมาให้คนด้านนอก อาทิ ฉบับแรก ประกาศวันหยุดพิเศษ ระบุเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี พนักงานประจำ 8 มิ.ย.-2 ก.ค.64 พนักงานชั่วคราว 8-12 มิ.ย.64 ที่ยังคงได้รับค่าจ้าง และพนักงานที่ยังคงต้องมาทำงาน ในช่วงวันหยุดพิเศษ บริษัทฯจะจ่ายค่าแรง และค่าล่วงเวลาในวันหยุด, ฉบับที่สอง เป็นจดหมายถึง เกษตรกรชาวไร่อ้อยครอบครัวตราซ้อนที่เคารพรักทุกท่าน ประกาศแจ้งหยุดกิจการ ที่ดำเนินกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่ ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

 

 

จดหมายระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบาก ดังนั้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ จึงมีมติตัดสินใจจะหยุดกิจการน้ำตาลหลังจากนี้อย่างเป็นทางการ จากการตัดสินใจครั้งนี้ บริษัทร้องขอบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลตราช้อนเช่นเดียวกัน ให้รับการโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยที่บริษัททำร่วมกับเกษตรกรทุกท่าน ขอให้ทุกท่านโปรดเข้าใจและขอความร่วมมือมา ณ ที่นี้ สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บ.น้ำตาลเกษตรผล จก. จะแจ้งให้เกษตรกรทุก ท่านทราบต่อไป ขอแสดงความนับถือ เผยชดเชยตามกฎหมาย

 

 

นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เปิดเผยหลังการประชุมว่า บริษัทฯชี้แจงว่าประสบปัญหาขาดทุน ติดต่อกันมารวม 6-7 ปีแล้ว ก็จะปิดกิจการทั้งหมด หรือเลิกกิจการ ไม่เหลือกิจกรรมอะไร ซึ่งมีพนักงาน-ลูกจ้างอยู่รวม 280 คน ทั้งรายวันรายเดือนก็จะต้องเลิกจ้าง รวมทั้งลูกจ้างตามฤดูกาลอีกกว่า 1,000 คนก็จะไม่มีการจ้าง โดยวันนี้ได้ประกาศหยุดกิจการ เขาก็ประกาศหยุดงานตั้งแต่วันนี้-2 ก.ค.64 แบบยังมีค่าจ้าง แต่ยังมีแรงงานที่สมัครใจ เข้ามาช่วยเก็บงาน ซึ่งก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มให้ ถือว่ามาทำงานในวันหยุด

 

 

“การเลิกจ้างจะเริ่ม 3 ก.ค.64 แบ่งเป็นการสมัครใจลาออก จะได้รัยการชดเชย 3 ส่วน คือ เงินชดเชยตามกฎหมาย, เงินช่วยเหลือพิเศษ และเงินช่วยเหลือจากการลาออก คนที่สมัครใจลาออกให้ยื่นเรื่องวันนี้-12 มิ.ย.นี้ เมื่อเลย 3 ก.ค.64 ถือว่าสิ้นสุดการเป็นพนักงาน หากไม่สมัครใจลาออก ก็จะดำเนินการเลิกจ้างตามกฎหมาย

ซึ่งจะจ่ายชดเชยเฉพาะตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันมาก อาทิ ผู้มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ตามกฎหมายจะได้ชดเชย 400 วัน เขาจะบวกเพิ่มเงินช่วยพิเศษอีก 120 วัน และเงินช่วยเหลือการลาออก 90 วัน รวมแล้ว 610 วัน เขาเรียกโครงการนี้ว่า มาราอิ จากกันด้วยดีสู่อนาคนใหม่” นายชัยวัฒน์ กล่าว

 

สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า วันนี้สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จัดเจ้าหน้าที่ไปให้คำปรึกษา แก่พนักงาน-ลูกจ้างที่จะตัดสินใจ พรุ่งนี้ถึงวันที่ 12 มิ.ย.นี้ 5 หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานก็จะไปทั้งหมด คอยช่วยเหลือพนักงาน-ลูกจ้างที่ยังมีข้อสงสัย, ขึ้นทะเบียนคนว่างงาน, พัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งนี้พนักงาน-ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ยังจะได้รับเงินจากประกันการว่างงาน

 

 

หากลาออกจะได้รับ 45 % 90 วัน หากถูกเลิกจ้างได้ 70 % 200 วัน ทำให้บริษัทฯเพิ่มเงินช่วยในส่วนนี้ เขาบอกว่าหากดำเนินกิจการต่อ อาจะไม่มีเงินเดือนจ่าย ผลกำไรที่เคยได้รับไป ยังพอนำมาชดเชยให้ทุกคนได้

 

นายชัยวัฒน์ ตอบข้อซักถามว่า ชาวไร่อ้อยที่มีสัญญากับ รง.น้ำตาลกุมภวาปี จะโอนสัญญาไปที่ โรงงานน้ำตาลเกษตรผล ซึ่งเป็นโรงงานในกลุ่มเดียวกัน แต่จะไม่มีการโอนพนักงาน-ลูกจ้าง เพราะตำแหน่งงานมีไม่มาก ก็สามารถไปสมัครได้เท่านั้น ส่วนแรงงานตามฤดูกาล ช่วงฤดูหีบอ้อยราว 1,000 คน ไม่มีระเบียบกฎหมายกำหนด แต่ทางจังหวัดได้สั่งการสำรวจข้อมูลไว้ด้วย ขณะที่ปัญหาของพนักงาน-ลูกจ้าง เป็นห่วงคือ “สหกรณ์” จังหวัดได้ให้สหกรณ์จังหวัดมาช่วย

 

นายไพรวัลย์ ฤทธิมหา ประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และนายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธานฯร่วมกันเปิดเผยว่า โรงงานฯชี้แจ้งการปิดกิจการว่า ผู้ถือหุ้นบอกทำต่อไปไม่ไหว การประชุมเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนโยบายและพิจารณาแล้วว่า ให้ปิดกิจการโรงงาน ปีนี้จะไม่มีการหีบอ้อย และสาเหตุเพราะจากการขาดทุนสะสม ซึ่งทางโรงงานไม่ได้ชี้แจงว่าจะให้ไปอยู่ยังไงต่อ แต่แจ้งว่าทางโรงงานพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชย ให้กับพนักงานทุกคนมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยในโครงการนี้ชื่อว่า “จากกันด้วยดี” โรงงานได้ให้เราตัดสินใจก่อน 12 มิ.ย.นี้ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับข้อเสนอ

 

ประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี กล่าวต่อว่า จะร่วมโครงการนี้กับโรงงาน เพราะคงไม่มีทางเลือกกว่านี้ โดยโรงงานให้หยุดพักร้อนพิเศษ ไม่ต้องไปทำงานตั้งแต่วันนี้ถึง 3 ก.ค.นี้ จากนั้นก็จะพ้นสภาพพนักงาน ซึ่งพนักงานทุกคนคงจะไม่คัดค้าน เพราะเป็นนโยบายผู้ถือหุ้น ถึงคัดค้านไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตนพอที่จะรู้มาก่อนว่าโรงงานจะปิดกิจการ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะเร็วขนาดนี้ หลังจากนี้พนักงานทุกคนก็คงจะเริ่มต้นหางานใหม่ทำ พนักงานคนไหนมีที่ดินก็คงจะทำกันไปก่อน และดูสถานการณ์ตั้งหลัก 1-2 เดือนก่อน แล้วใครมีโอกาสไปทางไหนก็ค่อยไป

 

“ความรู้สึกของผมตอนนี้ก็เสียใจ เพราะด้วยที่ผูกพันกับโรงงานมานาน ทำงานมา 24 ปี เรียนจบตอนปี 40 ฟองสบู่แตก ก็ได้มาทำงานที่นี่ เติบโตจากที่นี่ ซึ่งมาเจอเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ ค่อนข้างที่จะสะเทือนใจอยู่พอสมควร เพราะที่โรงงานนั้นก็เหมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่โรงงานเกือบทั้งหมด ผมนั้นก็ต้องดูแลหลายสายงาน รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม” นายไพรวัลย์ กล่าว

 

นายถิรวัฒน์ เปิดเผยทั้งน้ำตาว่า มันก็ยังเป็นเรื่องงงอยู่ และก็ตกใจอยู่เหมือนกัน ในเมื่อสภาวะมันเกิดขึ้นแบบนี้ ทางโรงงานนั้นไปต่อไม่ได้ ตนก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้าถามว่าตนเสียใจไหม ตอบเลยว่าเสียใจจริง ๆ เพราะว่าตนนั้นอยู่ที่นี่มานานมาก มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2525 โรงงานนี้ให้ตนมาตลอด ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ แล้วมีครอบครัวไปหมดแล้ว ก็ได้จากโรงงานที่นี่ ตนสงสารพนักงานในโรงงานบางคน ลูกก็ยังเรียนหนังสืออยู่ ก็ต้องได้มาตั้งเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ ตนนั้นมาจาก จ.กระบี่ และก็มาอยู่ที่นี่ 39 ปี และอีก 5 เดือนตนก็จะเกษียณแล้ว ตนนั้นมีความผูกพักกับโรงงานมากที่สุด

 

ที่มา มติชนออนไลน์ ภาพบางส่วนจาก ข่าวกุมภวาปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง