"Codex" AI เขียนโค้ดโปรแกรมจาก OpenAI - สร้างขึ้นเพื่อช่วยงานหรือแย่งงานโปรแกรมเมอร์?
ChatGPT (แช็ตจีพีที) กลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ประเภทแช็ตบอตที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยความสามารถที่หลากหลาย ประกอบกับการตอบคำถามได้ค่อนข้างตรงกับความต้องการของผู้ถาม จึงไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์จะให้ความสนใจ และนำมาผนวกรวมกับเสิร์ชเอนจิน Bing (บิง) ของตนเอง (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ ลิงก์นี้)
ทว่า ยังมีผู้ใช้อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะนำความสามารถของ ChatGPT มาใช้แบ่งเบาภาระการทำงานบางส่วน นั่นคือกลุ่ม "โปรแกรมเมอร์" อันเนื่องมาจาก ChatGPT มีความสามารถในการสร้างสรรค์โค้ดภาษาคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ใช้ต้องการ อีกทั้งยังสามารถค้นหาจุดบกพร่องของโค้ดได้ด้วย ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์นี้จึงมีประโยชน์อย่างมากในวงการโปรแกรมเมอร์
จุดเริ่มต้นของ Codex
อย่างไรก็ตาม OpenAI (โอเพนเอไอ) ผู้พัฒนา ChatGPT ต้องการให้ ChatGPT ทำหน้าที่เป็นปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยตอบคำถามสิ่งต่าง ๆ โดยเน้นที่การสร้างสรรค์ "ข้อความ" เพราะฉะนั้น ความสามารถในการสร้างสรรค์โค้ดภาษาคอมพิวเตอร์อาจจะไม่ครอบคลุมความต้องการของโปรแกรมเมอร์ได้ทั้งหมด นั่นจึงเป็นที่มาในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อีกตัวหนึ่งในชื่อ Codex (โคเด็กซ์)
ซึ่งเดิมทีทาง OpenAI ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า GitHub Copilot (กิตฮับ โคไพลอต) ถูกนำมาใช้ช่วยแนะนำโค้ดให้แก่โปรแกรมเมอร์ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม GitHub.com แต่เนื่องจากการใช้งานยังอยู่ในวงแคบเฉพาะกลุ่ม ทาง OpenAI จึงต่อยอดพัฒนา Codex ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีความสามารถในการเขียนโค้ดอย่างหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่การแนะนำโค้ดเท่านั้น
Codex ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 และได้รับเงินทุนสนับสนุนมากมายจากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ รวมถึงไมโครซอฟท์ ซึ่งตั้งแต่เริ่มพัฒนาก็มีเหล่าโปรแกรมเมอร์เข้าใช้กันมากมาย และนับเป็นเรื่องดีที่ปัญญาประดิษฐ์นี้จะได้เรียนรู้แนวคิดในการสร้างโค้ดแบบใหม่ไปในตัว
Codex "ช่วยงาน" หรือ "แย่งงาน" ?
ความสามารถของ Codex ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย และหนึ่งในคำถามที่โปรแกรมเมอร์บางคนอยากทราบและหวั่นเกรง นั่นคือ Codex จะเข้ามาแย่งงานเขียนโค้ดหรือไม่? ประเด็นนี้ผู้พัฒนายืนยันหนักแน่นว่า Codex ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น
ลองนึกย้อนไปในสมัยแรกเริ่มของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ในยุคแรกจะใช้ "บัตรเจาะรู" เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบัตรเจาะรูนี้ทำหน้าที่เสมือนโค้ดคอมพิวเตอร์ และในเวลาต่อมามนุษย์ได้พัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแทน เพิ่มความ "ง่าย, สะดวก และรวดเร็ว" ในการควบคุมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในอดีตเองก็มีการพัฒนาสิ่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน เช่นเดียวกันกับ Codex ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการพัฒนาแอปพลิเคชัน แต่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่มนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะมันยังไม่สามารถสร้างโค้ดที่ซับซ้อนได้ รวมถึงในบางครั้งโค้ดที่ออกมาอาจจะแสดงผลลัพธ์ไม่ถูกต้องตามต้องการจึงต้องถูกปรับปรุงด้วยมนุษย์ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทักษะพื้นฐานในการเขียนโค้ดของเหล่าโปรแกรมเมอร์ยังมีความสำคัญ และไม่สามารถทดแทนได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์เสียทั้งหมด แต่การนำ Codex มาใช้จะช่วยให้พวกเขาทำงานได้เร็วขึ้น เป็นต้นว่าจากเดิมในแต่ละปีอาจพัฒนาแอปพลิเคชันได้เพียง 1-2 ชิ้นงาน แต่เมื่อนำ Codex มาใช้ก็อาจทำเพิ่มได้มากกว่า 5 ชิ้นงานเลยก็เป็นได้
สำหรับตัวผู้เขียนเองเคยพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนด้วยเช่นกัน ทำให้เข้าใจเลยว่านี่เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง จึงเชื่อว่าการนำ Codex เข้ามาใช้ในองค์กรสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันนั้น จะช่วยเร่งประสิทธิผลออกมาได้มากและดีขึ้นกว่าเดิม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Business Insider