โควิดพ่นพิษส่งออกไทยติดลบหนักเดือนพ.ค. วูบ 22.50% สินค้าอุตสาหกรรม-รถยนต์ฉุด
โควิดพ่นพิษส่งออกไทยติดลบหนักเดือนพ.ค. วูบ 22.50% สินค้าอุตสาหกรรม-รถยนต์ฉุด ขณะที่สินค้าเกษตรยังไปได้สวย แนะผู้ประกอบการไทยตีตลาดช่วงคู่แข่งพบเชื้อในสินค้า คาดทั้งปีติดลบ 5%
โควิดพ่นพิษส่งออกติดลบ - น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนพ.ค. 2563 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 22.5% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากเดือนเม.ย. 2559 อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 130 เดือน นับจากเดือนก.ค. 2552 การนำเข้า มีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 34.4% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 124 เดือน นับจากเดือนม.ค. 2553 อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับจากเดือนพ.ค. 2552
ส่วน 5 เดือนแรก ปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.71% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2559 อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2559 การนำเข้า มีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.6% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2560 อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2559
สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 พบว่ายังน่าเป็นห่วงโดยจากการระบาดของไสรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยลบหลักแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในทวีปเอเชียจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การระบาดในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกไปจีนเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลกฝั่งเอเชียที่การระบาดลดลงในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านช่วงที่ตกต่ำที่สุดมาแล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจากปัจจัยด้านรายได้ของประชาชนในแต่ละประเทศที่ลดลง ผนวกกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าคงทนที่มีราคาสูงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ อุปสรรคด้านการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ดังเช่นการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 15.3% ซึ่งการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 โดยเห็นได้จากกระจายตัวทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมในรายสินค้า สินค้าไทยยังตอบโจทย์ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารในช่วงล็อกดาวน์ของโลกได้ดี ในเดือนพ.ค. 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักและผลไม้ หลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 10 เดือน ซึ่งทุกฝ่ายต้องป้องกันไม่ให้สินค้าในกลุ่มนี้ปนเปื้อนหรือมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อที่ไทยจะได้เป็นผู้ส่งออกสินค้าแทนประเทศที่พบการติดเชื้อในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 22.7% จาก 17.1% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนโอกาสในการกระจายรายได้ลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเวลาท้าทาย
“แม้ว่าสินค้าเกษตรและอาหารจะยังเป็นสินค้าดาวรุ่งแต่ก็เป็นสัดส่วนการส่งออกที่น้อยเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการส่งออกอย่างมากที่หดตัวลงโดยเฉพาะรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่หดตัวลงถึง 62.6% และจากปัจจัยต่างๆ ทำให้การส่งออกในภาพรวมของไทยติดลบและคาดว่าทั้งปีจะติดลบที่ 5% โดยจากเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ต้องส่งออกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว