รีเซต

สมองหน่วงให้เราอยู่ในอดีต 15 วินาทีก่อน เพื่อให้โลกดูเสถียรขึ้นในสายตามนุษย์

สมองหน่วงให้เราอยู่ในอดีต 15 วินาทีก่อน เพื่อให้โลกดูเสถียรขึ้นในสายตามนุษย์
ข่าวสด
31 มกราคม 2565 ( 07:55 )
57

ชั่วขณะที่ดวงตามนุษย์จับภาพของสิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อประมวลผลนั้น คุณทราบหรือไม่ว่ามันไม่ต่างจากการถล่มโจมตีสมองด้วยข้อมูลมหาศาลในทุกวินาที

 

อันที่จริงดวงตาของเรามองเห็นทั้งรูปร่าง สี และความเคลื่อนไหวนับล้าน ซึ่งล้วนเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดยิบย่อยอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจนน่าเวียนหัว แต่เหตุใดคนเราจึงสามารถมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพนิ่งที่ไร้ความปั่นป่วน ทว่าชัดเจนและดูมีเสถียรภาพได้ ?

 

ดร. เมาโร มานาซซี และ ดร. เดวิด วิตนีย์ จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์รายงานการค้นพบล่าสุดในเรื่องดังกล่าวลงวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าคนเรารับรู้ข้อมูลภาพช้าไปกว่าความเป็นจริง 15 วินาที

 

นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองอธิบายว่านี่คือกลไกการทำงานของสมอง ซึ่งจงใจสร้างภาพลวงตาที่ดูนิ่งและเสถียรกว่าขึ้นมาจากข้อมูลที่ท่วมท้นและสับสนอลหม่าน โดยจะมีการรวบรวมภาพที่คล้ายกันและประมวลผลสัญญาณภาพที่ได้รับรู้ทั้งหมด ทำให้กลายเป็นภาพเดียวทุก 15 วินาที เพื่อให้มนุษย์ไม่สับสนและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

"อาจพูดได้ว่าสมองของคนเราก็คือไทม์แมชชีน ที่คอยส่งเรากลับไปในอดีตทุก 15 วินาที" ดร. มานาซซี และ ดร. วิตนีย์ กล่าวในบทความของพวกเขาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation "หากสมองไม่ทำเช่นนี้ เราคงรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกแห่งความวุ่นวายปั่นป่วน เต็มไปด้วยแสงเงา สีสัน และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็วไม่สิ้นสุด คล้ายกับอาการประสาทหลอนจากยาเสพติดยังไงยังงั้น"

ที่มาของภาพ, Getty Images

(ภาพประกอบ2)

เพื่อทดสอบว่าภาพลวงตาจากการทำงานของสมองมีอยู่จริง ทีมผู้วิจัยได้ทดลองให้อาสาสมัครหลายร้อยคนมองดูภาพใบหน้าของฝาแฝดที่มีอายุน้อยคู่หนึ่ง จากนั้นให้ดูคลิปวิดีโอที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงภาพใบหน้าของแฝดคนหนึ่งให้สูงวัยขึ้นทีละน้อย จนกลายเป็นภาพใบหน้าที่แก่กว่าเดิม 10 ปี ภายในระยะเวลา 30 วินาที

 

เมื่อให้อาสาสมัครทายอายุของใบหน้าสุดท้ายที่ปรากฏบนจอ ผลกลับกลายเป็นว่าอาสาสมัครทุกคนบอกอายุของภาพใบหน้าที่ปรากฏขึ้นเมื่อ 15 วินาทีที่แล้ว แทนที่จะเป็นภาพที่ได้เห็นล่าสุด

 

"ผลทดลองนี้ชี้ถึงการที่สมองทำงานแบบขี้เกียจและผัดวันประกันพรุ่ง เนื่องจากมีข้อมูลเข้ามาให้ประมวลผลมากเกินไป มันจึงใช้วิธีรีไซเคิลนำข้อมูลจากอดีตกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งข้อมูลในอดีตก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงอนาคตอันใกล้ที่ค่อนข้างเชื่อถือได้อยู่แล้ว สมองจึงเลือกทำงานในลักษณะนี้ ทำให้ประมวลผลภาพได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ทีมผู้วิจัยกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การที่สมองมีอคติโดยมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญต่อข้อมูลภาพในอดีตยิ่งกว่าปัจจุบันก็มีข้อเสีย โดยเฉพาะในกรณีที่ความแม่นยำเที่ยงตรงเป็นตัวตัดสินความเป็นความตายของมนุษย์ได้ เช่นนักรังสีวิทยาที่ตรวจสอบภาพสแกนอวัยวะภายในต่อเนื่องกันหลายใบ อาจชี้จุดความผิดปกติของคนไข้ผิดพลาดไปได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง