รีเซต

EP. 02 Tokyo Olympics 2020 - ในโลกคู่ขนาน: หากไม่มีโควิด-19 “รักษ์โลก รีไซเคิล และลุกยืนขึ้นอีกครั้ง” ข้อความที่โตเกียวโอลิมปิก 2020 อยากฝากไว้กับชาวโลก

EP. 02 Tokyo Olympics 2020 - ในโลกคู่ขนาน: หากไม่มีโควิด-19 “รักษ์โลก รีไซเคิล และลุกยืนขึ้นอีกครั้ง” ข้อความที่โตเกียวโอลิมปิก 2020 อยากฝากไว้กับชาวโลก
Tech By True Digital
23 มิถุนายน 2564 ( 16:23 )
406
1

 

  แม้ว่าจนถึงขณะนี้ทางการญี่ปุ่นยังยืนยันจะจัดงานโอลิมปิกตามกำหนดเดิมคือ 23 กรกฎาคม 2564 นี้ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ทบทวนการยกเลิกการจัดงานเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 EP. ที่แล้ว Tech by True Digital ได้พาไปดูว่าญี่ปุ่นเตรียมสร้างตำนาน “The Smartest Olympics Ever”ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างไรบ้าง สำหรับ EP. นี้ เราจะพาไปดูว่า นอกจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นตำนานบทใหม่แล้วนั้น การจัดโอลิมปิกแบบฉบับชาวญี่ปุ่นที่สอดแทรกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปในเกือบทุกรายละเอียดของการจัดการแข่งขันนั้นมีอะไรบ้าง



โตเกียวจะต้องเป็นมากกว่าการเป็นผู้จัดการแข่งขัน แต่ต้องก้าวไปสู่การให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ” เป็นพันธสัญญาที่ปรากฎบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกกระบวนการจัดการแข่งขัน จึงไม่แปลกใจเลยว่า นอกจากการขนทัพเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายมาใช้ในโอลิมปิกครั้งนี้แล้วนั้น โตเกียวโอลิมปิก 2020 ถือเป็นการจัดการแข่งขันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลกด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดแทรกเข้าไปในเกือบทุกรายละเอียดของการจัดการแข่งขันชนิดที่เรียกว่า โอลิมปิกก็ต้องจัด โลกก็ต้องรัก(ษ์)ด้วย

 

 

---Be Better, Together โตเกียวโอลิมปิก2020---

ที่มา: https://olympics.com/tokyo-2020/en/news/tokyo-2020-announces-sus-plan-and-guiding-principle

 

  • การใช้พลังงานสะอาดในการจัดการแข่งขัน ระบบไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนคือพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานหลักของสนามกีฬาและหมู่บ้านนักกีฬาตลอดการแข่งขัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์  
  • ถนนพลังงานแสงอาทิตย์ มีการปูแผงโซลาร์เซลส์แทนที่พื้นถนนรอบเมืองโตเกียวแล้วทำการเคลือบอีกชั้นด้วยเรซินเพื่อให้รถสามารถวิ่งบนแผงโซลาเซลส์ได้ โดยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาจากถนนพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะถูกนำไปใช้กับแสงไฟจราจรบนถนน และต่อยอดไปทุกพื้นที่ในญี่ปุ่นต่อไป โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือ โตเกียวจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030
  • รถบัสขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนแทนน้ำมัน สำหรับอำนวยความสะดวกรับส่งผู้เข้าชมจากโรงแรมไปยังสนามหรือสถานที่ต่าง ๆ โดยรถบริการเหล่านี้จะใช้พลังงานไฮโดรเจนแทนน้ำมัน และยังมีรถกอล์ฟและรถสำหรับผู้พิการกว่า 100 คันที่ใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนอีกด้วย 
  • เหรียญรางวัลรีไซเคิล แม้ว่าดีไซน์ของเหรียญรางวัลซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ จูนิจิ คาวานิชิ จะเน้นความเรียบง่าย มีจุดเด่นตรงส่วนโค้งของเหรียญที่มีความแววาวเหมือน 3 มิติ แต่ความไม่ธรรมดาในความเรียบง่ายนี้คือวัสดุที่นำมาผลิตเหรียญนั้นถูกผลิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, แท็ปเล็ต ฯลฯ รวมกว่า 80,000 ตัน ที่ได้รับการบริจาคจากชาวญี่ปุ่นทั้งสิ้น โดยที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นทอง เงิน และทองแดงในตัวอยู่แล้ว การรีไซเคิลเพื่อแปลงออกมาเป็นเหรียญรางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงจำนวน 5,000 ชิ้น จึงไม่ใช่เรื่องยากของผู้นำนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่นนัก แต่การใส่ใจสิ่งแวดล้อมจนคิดค้นที่มาของเหรียญรางวัลนี่สิเป็นสิ่งที่ต้องยกนิ้วให้

 

 

---เหรียญรางวัลโตเกียวโอลิมปิก2020---

ที่มา: https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/victory-ceremony/olympics-medals-design

 

 

  • คบเพลิง ทำจากอะลูมิเนียมบ้านพักชั่วคราวผู้ประสบภัยในฟุกุชิมะเมื่อปี   2011 นอกจากความมุ่งมั่นที่จะเป็นโอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติแล้ว ญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มักประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ยังอยากสื่อสารถึงความสามารถในการ ฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการดีไซน์และผลิตคบเพลิงจากแผ่นอะลูมิเนียมที่ใช้ในการสร้างบ้านพักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และสึนามิครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดฟุกุชิมะ เมื่อปี 2011 โดยที่จุดสตาร์ทคบเพลิงก็อยู่ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติเจ-วิลเลจ ในจังหวัดฟุกุชิมะ เช่นกัน ภายใต้คอนเซปต์ “Hope Lights Our Way” เสมือนเป็นการจุดประกายความหวังให้กับพื้นที่ในจังหวัดฟุกุชิมะ โดยคบเพลิงจะเดินทางไปทั้งหมด 47 จังหวัดในญี่ปุ่น ผ่าน 857 เขตเทศบาลท้องถิ่น และไปสิ้นสุดที่การจุดไฟที่กระถางคบเพลิงภายในโอลิมปิก สเตเดียม สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโตเกียว ในพิธีเปิดการแข่งขันวันที่ 23 กรกฎาคมที่จะถึงนี้อย่างเป็นทางการ

 

 

---คบเพลิงโตเกียวโอลิมปิก2020---

ที่มา: https://olympics.com/tokyo-2020/en/torch/about/

 

ขบวนทัพเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นได้คิดค้นและพัฒนามาจัดเต็มในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ก็ได้ประกาศศักดาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า โตเกียวไปใด้ไกลกว่าการเป็นเมืองผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิก แต่ยังเป็นผู้กำหนดแนวทางเทรนด์นวัตกรรมเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมสื่อสาร “ความหวัง” และให้กำลังใจกับทั้งคนในประเทศ และผู้ชมจากทุกมุมโลกถึงการลุกยืนขึ้นอีกครั้งหลังพบอุปสรรคอีกด้วย 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง