รีเซต

“ร่างกายซับซ้อนกว่าที่คิด” วงการกีฬาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ในโลกที่โอบอุ้มความหลากหลาย

“ร่างกายซับซ้อนกว่าที่คิด” วงการกีฬาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ในโลกที่โอบอุ้มความหลากหลาย
TNN ช่อง16
2 สิงหาคม 2567 ( 19:59 )
18

กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เมื่อนักชกหญิงจากอิตาลีขอยอมแพ้ หลังเริ่มชกได้เพียง 46 วินาทีเท่านั้น โดยเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอรู้สึกเจ็บที่จมูก หลังถูกชกเข้าที่หน้าเป็นครั้งที่ 2 เธอหยุดที่จะสู้ต่อหลังจากนั้น ซึ่งเธอคิดว่า เป็นทางที่ดีกว่าในการที่จะยุติการแข่งขันนี้  


“ฉันต้องรักษาชีวิตของฉัน” คารินี กล่าว 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดกระแสถึงความขัดแย้งที่สะสมมาอย่างยาวนานเรื่องความหลากหลายทางเพศกับวงการกีฬา โดยเฉพาะการแข่งขันในกลุ่มประเภทหญิง ที่ระยะหลังหลายรายการอนุญาตให้ทรานส์วูแมน หรือ หญิงข้ามเพศ เข้าลงแข่งกับผู้หญิงได้ด้วย 


แน่นอนว่า มีทั้งผู้ที่สนับสนุน และคัดค้าน รวมถึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต้องพยายามหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ


แต่สำหรับกรณีนี้ “เคลิฟ” ไม่ใช่คนข้ามเพศ และเธอก็ไม่เคยผ่านการแปลงเพศใด ๆ มีเพียงแต่เหตุผลจากทาง IBA ที่ชี้แจงว่า ฮอร์โมนเพศของเธอไม่ผ่าน และตรวจพบโครโมโซน XY ซึ่งมักถูกจัดให้เป็นโครโมโซมของเพศชาย ขณะที่ของผู้หญิงคือ XX 


คำถามต่อจากนี้ คือ วงการกีฬาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ในช่วงที่โลกโอบอุ้มความหลากหลายมากขึ้น 


---“อิมาน เคลิฟ” คือใคร ?---


อิมาน เคลิฟ นักชกหญิง วัย 25 ปี จากจังหวัดเทียเรต ประเทศแอลจีเรีย เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1999 โดยในเอกสารการเกิดของเธอ ระบุว่า เป็นเพศหญิง ฉะนั้น เธอจึงถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กผู้หญิงทั่วไป  

“เคลิฟ” เริ่มก้าวเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2018 


เธอคว้าเหรียญทองในการแข่งขันมวยของเมดิเตอร์เรเนียนเกมส์ และการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์แอฟริกา ในปี 2022 ก่อนที่ต่อมาจะคว้าเหรียญทองจากอาหรับเกมส์ในปี 2023 


ดราม่าเริ่มเกิดขึ้น เมื่อเธอเข้าไปถึงรอบไฟนอล ในการแข่งขันมวยสากลหญิงชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดขึ้นโดย IBA แต่เธอกลับถูกตัดสิทธิ์ก่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ซึ่งตอนนั้นคณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรีย กล่าวว่า เคลิฟขาดคุณสมบัติ ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ 

ขณะที่ อูมาร์ เครมเลฟ ประธาน IBA กล่าวกับสำนักข่าว Tass สื่อของรัสเซียว่า เคลิฟขาดคุณสมบัติ เพราะผลการตรวจ DNA พบว่า เธอมีโครโมโซม  XY 


ตอนนั้น คนที่ถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ด้วยเหตุผลเดียวกับเคลิฟ คือ หลิน ยู่ถิง นักชกจากไต้หวัน ซึ่งตอนนั้นเคลิฟได้ยื่นคำร้องคัดค้านผลดังกล่าว แต่ภายหลังก็ถอนออกไป 


ต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ทาง IBA ชี้แจงว่า เคลิฟ และคนอื่น ๆ ไม่ได้ผ่านการฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แต่ใช้วิธีที่แตกต่าง และเป็นความลับ ซึ่งผลจากการทดสอบนี้่ ระบุว่า พวกเธอมีความได้เปรียบกับนักชกหญิงคนอื่น ๆ 


หลังออกแถลงการณ์ดังกล่าว ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ระบุว่า การตัดสินใจของ IBA เป็นเรื่องที่ฉับพลัน และทำตามอำเภอใจ และไม่มีกระบวนการใด ๆ ที่เหมาะสม 


---ร่างกายมนุษย์ซับซ้อนกว่าที่คิด---


ในวิชาเรียน เรามักจะถูกสอนว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และโครโมโซม XY คือของเพศชาย และฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน และโครโมโซน XX เป็นของเพศหญิง 


แต่บนโลกนี้ มีความหลากหลาย และร่างกายมนุษย์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความซับซ้อนมาก ๆ ยังมีอะไรให้นักวิจัยศึกษาอีกมากมาย เพราะบางกรณี ก็มีผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงกว่าปกติ หรือ เพศชายบางคนก็มีเอสโตรเจนสูงกว่าปกติได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน เรื่องเพศสภาพทางชีววิทยา ก็ไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง แต่ยังมีคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม Intersex ด้วยเช่นกัน


“ในเคสของนักชก คือ สื่อพยายามที่จะพาดหัวข่าวไปในทางที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ จนโยงมาถึงคนข้ามเพศ ซึ่งจริง ๆ แล้วนักชกชาวแอลจีเรีย เขามีคำนำหน้าบนพาสปอร์ตว่าเป็นหญิง และนิยามตนเองว่าเป็นหญิง แต่มาตรวจพบทีหลังว่าอาจจะมีโครโมโซม XY ซึ่งอันนี้ก็ยังไม่มีแหล่งข่าวที่ยืนยันอย่างชัดเจน ว่า เขามีโครโมโซมเป็น XY จริง ๆ” ณัฐนนท์ บุญสม หรือ นัท ผู้ก่อตั้ง กลุ่ม Trans Thailand กล่าวกับผู้สื่อข่าว TNN 


---เป็น Intersex หรือว่า เป็น DSD ?---


แรกเริ่มหลายสื่อ พยายามนำเสนอให้ “เคลิฟ” เป็นคนข้ามเพศ แต่เมื่อความจริงเปิดเผยว่า เพศสภาพของเธอ ถูกระบุในเอกสารว่า เป็นหญิงตั้งแต่กำเนิด และถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กผู้หญิงทั่วไป หนำซ้ำเธอยังมาจากประเทศมุสลิม ที่มีโทษทางกฎหมายที่รุนแรงอยู่สำหรับบุคคลที่เป็น LGBTQ 


หลังจากความจริงเปิดเผย ส่วนใหญ่พยายามวินิจฉัยว่า เธอเป็น Intersex หรือ บุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม บางก็ว่าเป็นภาวะ DSD หรือ มีความแตกต่างหลากหลายของโครโมโซมเพศ โดยที่ตัวเธอเองยังไม่ได้ยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ หรือว่า มีหลักฐานเอกสารทางการแพทย์รับรอง


ทั้งนี้ บทความ “ทำความรู้จักกับ ‘I’ ใน LGBTQI” เผยแพร่โดย Amnesty International นิยามคำว่า “Intersex” หรือ “ภาวะเพศกำกวม” หมายถึง คนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ โดยมีทั้งการเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ ปรากฎเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์

 

“การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มักจะหมายถึงลักษณะทางกายภาพ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งชาวอินเตอร์เซ็กส์ก็สามารถมีได้หลากหลายเช่นบุคคลทั่วไป” 


เว็บไซต์ Cleveland Clinic ระบุว่า ภาวะ DSD คือ ความแตกต่างหลากหลายของโครโมโซมเพศ โดยที่ระบบสืบพันธุ์ และอวัยวะเพศไม่ตรงกันตั้งแต่แรกเกิด ยกตัวอย่างเช่น มีโครโมโซม XY แต่อวัยวะเพศที่ปรากฎบนร่างกายเป็นผู้หญิง หรือ มีโครโมโซม XX แต่มีอวัยวะเพศของผู้ชาย ซึ่งบุคคลที่มีภาวะ DSD สามารถมีลักษณะทางกายภาพของทั้งชายและหญิงเช่นกัน 


“ถ้าถามเรา เรายังไม่กล้าที่จะยืนชี้ไปที่เธอ (เคลิฟ) แล้วบอกว่า เธอเป็น Intersex ด้วยซ้ำ เพราะว่าตัวเธอ ควรจะเป็นคนที่ให้ความหมายตัวเอง” ณฐกมล ศิวะศิลป หรือ พรีส ผู้ร่วมก่อตั้ง Intersex Thailand กล่าว 


---ฮอร์โมนชายสูง ช่วยให้ได้เปรียบทางกีฬา ?---


หนึ่งสิ่งที่ทั่วโลกตั้งคำถาม คือ กรณีที่เคลิฟมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าเกณฑ์ จะทำให้เธอได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้หรือไม่ 


“ในส่วนของทรานส์แมนผมไม่ปฏิเสธว่า มันมีผล ผมไม่ปฏิเสธเลยว่า ตั้งแต่ผมรับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมา 7 ปี มันช่วยเพิ่มพลกำลังประมาณหนึ่ง แต่ว่ามันไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า คุณมีฮอร์โมนชาย แล้วคุณจะชนะคู่แข่งทุกคนเสมอไป” ณัฐนนท์  กล่าว


“แต่ถ้าว่า ได้เปรียบไหม สำหรับ ผมก็มองว่า มันก็มีส่วนที่จะฟื้นฟูกำลัง”


“แต่มันก็มีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วยนอกเหนือจากฮอร์โมน เช่น การฝึกซ้อม การกิน การพักผ่อน การที่เราไปโฟกัสแค่ฮอร์โมนอย่างเดียวมันคือการดูถูกความพยายามของนักกีฬา” เขา กล่าว 


ณฐกมล กล่าวว่า พวกเราไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่า นักกีฬาคนนี้ เขาฝึกซ้อมมานานแค่ไหน หรือ พยายามมากแค่ไหน เพราะเราไปดูแต่จุดสุดท้ายที่เขาชนะคนอื่น และถูกคู่แข่งชี้ว่า “คุณไม่ใช่ผู้หญิง” เพราะว่า ร่างกายภายนอกเขาอาจจะไม่ได้อยู่ในกล่องของเพศหญิง หรือ มีคนที่เสียผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า ถึงได้ตั้งคำถามแบบนั้น แต่เราเคยไปดูว่า เขาต้องผ่านอะไรมาบ้างหรือเปล่า 


“จริง ๆ การแข่งขัน มันอยู่ที่ข้อได้เปรียบทางร่างกาย ข้อได้เปรียบทางด้านฮอร์โมน มันอยู่ที่ข้อได้เปรียบทางด้านฝึกฝน มันอยู่ข้อได้เปลี่ยนทางด้านเวลาที่จะทุ่มเท แล้วก็รวมไปถึงว่า คุณมีครอบครัวที่จะสนับสนุนไหมด้วยซ้ำ คือมันมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบแตกต่างกันอยู่แล้ว” ณฐกมล กล่าว


แม้ว่าการแข่งขันกีฬาหลายรายการ มีความเปิดกว้างให้คนข้ามเพศ เข้ามาร่วมแข่งขันกับนักกีฬาที่มีเพศตามเพศกำเนิดได้ และได้รับชัยชนะในการแข่งขัน แต่ใช่ว่า นักกีฬาข้ามเพศทุกคนจะได้รับชัยชนะ สมาพันธ์กีฬาหลายแห่งจึงมีการกำหนดให้บุคคลข้ามเพศที่ต้องการจะเข้าแข่งขันกับนักกีฬาที่มีเพศตามเพศกำเนิด จะต้องมีระดับฮอร์โมนตรงตามเกณฑ์กำหนดของทางสมาพันธ์ 


จากบทความ “นักกีฬาข้ามเพศ” กับโอกาสแห่งความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่กีฬา เขียนโดย หยาดฝน ทิพย์บำรุง ได้ยกกรณีของ เรเน่ ริชาร์ดส์ จักษุแพทย์ชาวอเมริกันที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง ก่อนที่จะมีโอกาสแข่งขันในกีฬาเทนนิสกับมาร์ตินา นาฟราติโลวา นักเทนนิสหญิง เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 18 รายการ ในปี 1977 และเธอต้องพ่ายให้กับนาฟราติโลวาในเวลาต่อมา


เช่นเดียวกันกับในกรณีของ พาทริซิโอ มานูเอล ชายข้ามเพศ ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการมวย ด้วยการเป็นชายข้ามเพศคนแรกที่ชกมวยสากลอาชีพและคว้าชัยชนะจากการแข่งขันชกมวยสากลอาชีพที่จัดขึ้นโดย California State Athletic Commission (CSAC) 


“การใช้เทสโทสเตอโรนสำหรับนักกีฬาข้ามเพศชายอันเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ อาจถูกมองว่าเป็นหนึ่งในการใช้สารกระตุ้นสำหรับนักกีฬา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ดังกล่าว จะเป็นไปในปริมาณที่จัดว่าเป็นสารกระตุ้นด้วยปริมาณที่สูงกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เพศชายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติ เนื่องจากกระบวนการการให้ฮอร์โมนสำหรับบุคคลข้ามเพศย่อมเป็นไปตามการกำกับดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมีการติดตามผลอยู่เป็นระยะ” บทความดังกล่าว ระบุ 


อ่านบทความฉบับเต็ม: https://www.facebook.com/TransTH/posts/pfbid02QnPxKrNd4Fn5uH9cXeP8UwG3Sem7ndwDLsPScBC1zqCuWQHJfMz7BAR36gPMCP74l


ทั้งนี้ ณฐกมล ได้แชร์ประสบการณ์ของคนใกล้ตัวเธอคนหนึ่ง ที่ต้องประสบกรณีคล้ายคลึงกับ “เคลิฟ” เมื่อความฝันทางการกีฬา และพรสวรรค์ของคนนั้นต้องหยุดลง เพียงเพราะเธอถูกจับตรวจแล้วพบโครโมโซน XY ไม่ตรงกับเพศสภาพตามกำเนิดของเธอ ซึ่งการตรวจเกิดจากการที่เขามีความแข็งแรง และเล่นกีฬาได้ดีกว่านักกีฬาหญิงทั่วไป ผลกระทบต่อจากนั้น ทำให้ชีวิตของนักกีฬาผู้จะกลายเป็นดาวรุ่งต้องแหลกสลายลง เพียงเพราะคนรอบข้าง แม้กระทั่งครอบครัวของเขาเอง มองว่า เขาคือ “ตัวประหลาด”


 ---ร่างกายสำคัญขนาดไหนในการแข่งกีฬา---


ถ้าเป็นกีฬาประเภทยิงปืน หรือ ยิงธนู ร่างกายหรือเพศอาจไม่ได้ส่งผลมากเท่ากีฬาที่ใช้แรงเข้าสู้อย่าง ชกมวย แบดมินตัน เทนนิส หรือแม้กระทั่งปิงปอง ต้องยอมรับตามตรงว่า “ร่างกาย” มีส่วนสำคัญมาก ๆ 

นักกีฬาเหล่านี้ นอกจากจะต้องฝึกชก ฝึกตีแล้ว พวกเขาก็ต้องฝึกความแข็งแรงของร่างกาย ทำตัวเองให้ฟิตตลอดเวลา สร้างกล้ามเนื้อต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองสามารถยืนอยู่ได้ยันจบการแข่งขัน  


โดยเฉพาะกับกีฬาชกมวย ที่ร่างกายเกือบทุกส่วนมีผลต่อการเล่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก กล้ามเนื้อ ช่วงแขน ช่วงขา ล้วนมีผลหมด และสามารถช่วยวางเกมได้ว่า อะไรที่เป็นจุดแข็งของนักกีฬา และจุดที่ต้องระวังในตัวคู่แข่ง 


แต่นั่น ไม่ได้หมายความว่า “เคลิฟ” ผู้มีลักษณะภายนอกอาจจะดูคล้ายคลึงกับผู้ชาย จะขึ้นชกแล้วชนะเสมอไป เพราะประวัติในการขึ้นชกที่ผ่านมา เธอต้องประสบกับความพ่ายแพ้อยู่หลายครั้ง ไม่ได้ชกชนะทุกครั้งเสมอไป 


ขณะเดียวกัน ทาง IOC ก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ทุกคนมีสิทธิ์ในการเล่นกีฬาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ พร้อมกล่าวว่า นักกีฬาที่เข้าแข่งขันชกมวยทุกคนบนเวทีโอลิมปิก ปารีส 2024 ปฏิบัติตามคุณสมบัติและกฎเกณฑ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงกฎทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่กำหนดโดย Paris 2024 Boxing Unit หรือ PBU


 ---อนาคตวงการกีฬากับความหลากหลายทางเพศ---


การที่คู่ชกจากอิตาลียอมแพ้หลังขึ้นสังเวียนไปไม่ถึง 1 นาที ก็ไม่ได้หมายความว่า เธอเป็นคนอ่อนแอ หรือแสร้งทำให้ “เคลิฟ” หรือแม้กระทั่งคนข้ามเพศ เป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั้งโลก เพราะเราอาจจะต้องคำนึงในเรื่องจิตใจก่อนหน้านี้ของนักกีฬา สภาพแวดล้อมที่เจอเข้ามาร่วมด้วย และเรื่องนี้ก็มีความซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า  


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะพบวาทกรรมสร้างความเกลียดชังที่มีต่อคนข้ามเพศ หรือแม้กระทั่ง บุคคลที่มิอาจมีรูปลักษณ์ให้เป็นไปตามเสียงสังคมส่วนใหญ่ แต่หนึ่งสิ่งที่มองว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ คือ เป็นการจุดประกายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่า จะเป็นองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQ, ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์กีฬา, ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ นักกีฬา องค์กรกีฬาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสื่อเอง ได้หันมาถก หาทางออกร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนให้วงการกีฬา เดินหน้าสอดคล้องไปกับโลกที่โอบอุ้ม และยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ หรือ ทางชีวภาพก็ตาม 


“จะเสนอการแก้ไขยังไง ผมคิดว่า ต้องตรวจฮอร์โมนทุกคน ไม่ใช่แค่คนข้ามเพศอย่างเดียว แต่ผู้หญิง ผู้ชายก็ควรจับตรวจด้วย แล้วเราก็มาคิดวิเคราะห์ว่า เขาสามารถลงแข่งขันอะไรยังไงได้บ้าง หรือแก้ไขปัญหายังไง” ณัฐนันท์ กล่าว 


เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://olympics.com/ioc/news/joint-paris-2024-boxing-unit-ioc-statement?fbclid=IwY2xjawEZghZleHRuA2FlbQIxMAABHX7vT9D126XGkeWq87x6rkIcMhKCfjQ9YSi0o_SdYxuWA1slxMIQlMCSRQ_aem_zswDOFB2J4u1nICgVqIVEQ

https://www.bbc.com/sport/olympics/articles/cw0yvln9z00o

https://www.theguardian.com/sport/article/2024/aug/01/angela-carini-abandons-fight-after-46-seconds-against-imane-khelif

https://en.wikipedia.org/wiki/Imane_Khelif

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/disorders-of-sexual-development

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/669/

https://web.archive.org/web/20240731211632/https://www.iba.sport/news/statement-made-by-the-international-boxing-association-regarding-athletes-disqualifications-in-world-boxing-championships-2023/

https://www.reuters.com/sports/olympics/olympics-dsd-rules-focus-womens-boxing-2024-07-31/

https://www.telegraph.co.uk/columnists/2024/08/01/angela-carini-imane-khelif-italian-boxer-punched/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง