MIT สร้างไส้กรองน้ำจากเนื้อไม้ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ทั่วโลก
ประชาชนกว่า 790 ล้านรายทั่วโลก กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ทำให้องค์กรภาครัฐทั่วโลกต่างพยายามค้นหาวิธีที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสะอาดจากแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ รวมถึงสถาบัน MIT ซึ่งได้คิดค้นระบบกรองน้ำแบบใหม่จากธรรมชาติ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ง่ายขึ้น
เราลองรื้นฟื้นความรู้วิชาวิทยาศาสตร์กันสักเล็กน้อย เมื่อคุณตัดต้นไม้ออกมาตรงแก่นกลางของลำต้นจะเป็นส่วนที่เรียกว่ากระพี้ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเนื้อไม้นุ่ม ๆ กับแกนไม้แข็ง โดยส่วนของกระพี้จะประกอบด้วยท่อลำเลียงน้ำ (Xylem) ที่เจริญเติบโตเต็มที่ (เจริญกว่าส่วนเนื้อไม้นุ่ม ๆ แต่ไม่ตันเหมือนแกนไม้) และเชื่อมต่อกันด้วยเนื้อเยื่อไม้จนคล้ายตะแกรง ทำให้มันมีคุณสมบัติเสมือนไส้กรองน้ำแบบที่เราใช้กันในเครื่องกรองน้ำนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน MIT จึงปิ๊งไอเดีย คิดค้นไส้กรองน้ำจากกระพี้ของไม้ตามธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสามารถจัดหาได้ง่ายกว่าวัสดุสังเคราะห์ โดยนำกระพี้ไม้มาปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ท่อลำเลียงน้ำอุดตัน ด้วยการนำกระพี้แช่ในน้ำร้อนนาน 1 ชั่วโมง แล้วจุ่มลงในเอธานอล (แอลกอฮอล์ชนิดรับประทานได้) จากนั้นปล่อยให้แห้ง ท่อลำเลียงน้ำในกระพี้ก็จะคงอยู่ได้นาน
นักวิทยาศาสตร์เริ่มทดลองใช้ไส้กรองจากธรรมชาตินี้ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีสถิติบันทึกว่ามีผู้คนกว่า 160 ล้านคนทั่วประเทศขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ปรากฏว่าไส้กรองน้ำจากกระพี้ไม้ของสถาบัน MIT สามารถกรองเอาแบคทีเรียก่อโรคท้องร่วง เช่น E. coli หรือ Rotavirus ได้มากถึง 99% ซึ่งถือว่าสะอาดเพียงพอที่จะนำน้ำมาใช้ดื่มได้ตามมาตรฐานของ WHO
บางคนอาจจะสงสัยว่า การนำไส้กรองจากกระพี้ไม้มาใช้จะต้องติดตั้งในเครื่องกรองน้ำชนิดพิเศษหรือไม่? โชคดีที่กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ต้องอาศัยเครื่องกรองน้ำราคาแพง ๆ เลย เพียงแค่ยัดกระพี้เข้าไปแทรกระหว่างจุกก๊อกน้ำ จากนั้นเปิดให้น้ำไหลผ่านไส้กรองกระพี้นี้ น้ำที่ไหลออกมาก็จะกลายเป็นน้ำสะอาดดื่มได้อย่างน่าอัศจรรย์
นอกจากนี้ ทีมงานจากสถาบัน MIT ยังได้เผยแพร่แนวทางในการสร้างไส้กรองจากธรรมชาติบนเว็บไซต์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ลิ้งก์นี้) เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกหรือหน่วยงานของรัฐจัดหาไส้กรองทำเองจากต้นไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งยังมีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในประเทศอื่น ๆ ต่อไปด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering