รีเซต

อาชีพอิสระ งานส่วนตัว อย่าลืมใช้สิทธิสมัครประกันสังคม ม.40

อาชีพอิสระ งานส่วนตัว อย่าลืมใช้สิทธิสมัครประกันสังคม ม.40
062528XXXX
19 สิงหาคม 2563 ( 14:09 )
32.9K
3
อาชีพอิสระ งานส่วนตัว อย่าลืมใช้สิทธิสมัครประกันสังคม ม.40

แม้ว่า GDP ในไตรมาส 2 จะหดตัวลง 12.2% อีกทั้งส่อแววว่าจะยังไม่กระเตื้องขึ้นมาง่ายๆ ทำให้"เด็กจบใหม่"บางส่วนจะต้องหันไปทำอาชีพอิสระ ทำงานส่วนตัว แต่วันนี้! อย่าลืมสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมตามมาตรา 40 นอกจากนี้ประกันสังคมยังขยายช่วงอายุไปถึงวัย 65 ปี ที่ทำอาชีพอิสระ สามารถสมัครเข้าประกันตนในมาตรา 40 ได้เช่นกัน 

 

สถานการ์เศรษฐกิจไตรมาสสอง GDP หดตัว12.2%

 

จากการที่ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 2/2563 ลดลงร้อยละ 12.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 1/2563 โดยมีสาเหตุ สำคัญมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน

 

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 63 GDP อยู่ที่ 2.2% โดยสภาพัฒน์ประมาณการตัวเลข GDP ทั้งปี 63 อยู่ที่ -7.5% อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ที่ -12.2% นั้นติดลบน้อยกว่าตอนไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ซึ่ง GDP ในไตรมาส 2 ขณะนั้นตัวเลขอยู่ที่ -12.5%

 

 

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2563 นั้น ผลพวงส่วนใหญ่มาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องล็อกดาวน์ประเทศ รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และปัญหาภัยแล้ง

 

อีกทั้งก่อนหน้านี้ ทางเลขาธิการสภาพัฒน์​ เคยให้ข้อมูลคาดการณ์ถึงตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5.2 แสนคน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับเพียงพอ  จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยง แต่เชื่อว่ากลุ่มแรงงานจบใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล จะสามารถทำให้หางานไม่ยาก เนื่องจากช่วงโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานผ่านออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น

 

จากตัวเลขดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็น "เด็กจบใหม่" ที่ยังไม่สามารถหางานประจำทำได้ บางส่วนอาจเข้าสู่ อาชีพอิสระ หรือ การทำงานส่วนตัว ในกลุ่มนี้ ณ ปัจจุบันสามารถเข้าสู่ระบบของประกันสังคมใน มาตรา 40 ได้แล้ว และยังรวมไปถึง ผู้ว่างงานที่อายุไม่เกิน 65 ปี และไม่เคยเข้าสู่ระบบประกันสังคมในมาตรา 33 และ 39 มาก่อน สามารถสมัครเข้าประกันตนในมาตรา 40 ได้เช่นกัน

 

 

รู้จักประกันสังคม มาตรา 40 

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2561 นั้น

 

1. คุณสมบัติของผู้สมัคร

1.1 มีสัญชาติไทย

1.2 เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 6 หรือ เลข 7

1.3 เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว   เพื่อรอการส่งกลับ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีเลขประจำตัวหลักแรกและหลักที่สองเป็นเลข 0 (00)

1.4 ผู้สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563)

1.5 ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

1.6 ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะอย่างเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ รวมทั้งไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น

1.7 หากเป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้พิการ ให้ระบุลักษณะหรืออาการของผู้พิการโดยละเอียด (ยกเว้น  ผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้)

 

2. หลักฐานการสมัคร

2.1 บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้แทนบัตรประจำตัวประชาชน

2.2 แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40) กรณีไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้ใช้การประทับลายนิ้วมือแทนการลงชื่อและให้มีผู้รับรองลายมือชื่อจำนวน 2 คน

 

3. สถานที่ในการสมัคร

3.1 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา  ทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

3.2 อินเตอร์เน็ต WWW.sso.go.th/section40_regist

3.3 บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่น อีเลฟเว่น (7-11)

 

4การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40  

 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก

  • ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  3  กรณี  คือ 
    • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 
    • กรณีทุพพลภาพ
    • กรณีตาย
  • ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  4  กรณี  คือ 
    • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • กรณีทุพพลภาพ
    • กรณีตาย
    • และกรณีชราภาพ
  • ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  5  กรณี  คือ 
    • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 
    • กรณีทุพพลภาพ
    • กรณีตาย
    • กรณีชราภาพ
    • และกรณีสงเคราะห์บุตร

 

หมายเหตุ :

1)  ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

2)  กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

 

5. ช่องทางการชำระเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40

5.1 เคาน์เตอร์บริการ 

 

 

5.2 หักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร

ชำระงวดปัจจุบัน  ได้ที่

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (มหาชน)

4. ธนาคารออมสิน

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

6. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

7. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

8. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

9. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

 

5.3 ช่องทางอื่น

ชำระงวดปัจจุบัน งวดล่วงหน้า 12 เดือน และออมเพิ่มไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน ได้ที่ ไปรษณีย์ (ธนาณัติ) เสียค่าธรรมเนียมตามที่ไปรษณีย์กำหนด

 

หมายเหตุ

1. การจ่ายเงินสมทบผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส โปรดแจ้งพนักงานให้ชัดเจนว่าจะจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าหรือจ่ายเงินออมเพิ่ม เพื่อไม่ให้จ่ายเงินผิดพลาด

2. จ่ายเงินสมทบผ่านการหักบัญชีธนาคาร ธนาคารจะหักเงินในบัญชีของผู้ประกันตน ทุกวันที่ 20 ของเดือน

3. ลืมหรือขาดส่งเงินสมทบ ไม่สามารถส่งเงินสมทบย้อนหลังได้ แต่ไม่ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน สามารถส่งเงินสมทบงวดปัจจุบันและส่งเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน

4. เงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จ่าย สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

5. ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่ถูกตัดสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

6. การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล

6.1 เมื่อเป็นผู้ประกันตนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านามชื่อ - สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อ เปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบ หรือเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น ให้ยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหรือทางเลือกการจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40/1) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง

6.2 กรณีขอเปลี่ยนทางเลือกการจ่ายเงินสมทบจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้ว  จะมีผลในเดือนถัดไป

6.3 หากไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ต่อไป (ลาออก) ให้ยื่นแบบแจ้งความจำนงไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40/2)

 

ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สายด่วน 1506 

 

 

หรือ สามารถขอรับบริการได้ที่ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 1-12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาทั่วประเทศ

**************

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

>>> ประกันสังคม ชวนข้าราชการบำนาญ อายุ 60-65 ปี สมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40

>>> เผยสาเหตุลงทะเบียนว่างงาน ประกันสังคม ทำไมยังไม่ได้เงิน?

>>> รวมปิดกิจการ - ยื่นล้มละลาย ปี 2020 พิษโควิด-19

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง