รีเซต

เปิดประวัติมิน อ่อง หล่าย ทหารทรงอิทธิพลสุดของกองทัพเมียนมา

เปิดประวัติมิน อ่อง หล่าย ทหารทรงอิทธิพลสุดของกองทัพเมียนมา
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2564 ( 18:15 )
502

กองทัพเมียนมาปกครองประเทศมาเกือบ 50 ปี หลังมีการก่อรัฐประหารในปี 1962

เมื่อเมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย กองทัพเมียนมาได้ออกแบบรัฐธรรมนูญในปี 2008 กำหนดบทบาทถาวรของกองทัพให้อยู่ในระบบการเมือง จัดสรรที่นั่งในรัฐสภาให้กับตัวแทนของกองทัพเป็นสัดส่วน 25% โดยไม่ต้องได้รับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ กองทัพยังเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีในสามกระทรวงสำคัญคือ กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับกิจการด้านความมั่นคง จึงทำให้กองทัพเมียนมามีบทบาทในการเมืองของประเทศตลอดเวลาแม้มีรัฐบาลพลเรือนแล้วก็ตาม

สำหรับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพทัตมาดอว์ วัย 64 ปีนั้น เมื่อครั้งที่เขาศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งย่างกุ้งในช่วงปี 1972-1974 เขาไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมืองเท่าไหร่นัก

เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาคนหนึ่งเคยกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่า มิน อ่อง หล่าย เป็นคนพูดน้อยและเก็บตัว


ช่วงที่เพื่อนนักศึกษาพากันเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่มิน อ่องหล่าย กลับยื่นใบสมัครเข้าโรงเรียนนายรัอยของเมียนมาและความพยายามของเขาสำเร็จในการสอบครั้งที่สามในปี 1974

เพื่อนนักเรียนนายร้อยของเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอรส์ในปี 2016 และยังคงได้พบกับมิน อ่อง หล่าย ในการสังสรรค์ประจำปีของเพื่อนร่วมรุ่น กล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย เป็นนักเรียนนายร้อยระดับกลางๆ  เขาได้รับการเลื่อนขั้นอยู่เรื่อยๆ และช้าๆ ซึ่งการที่เขาก้าวมาเป็นผู้นำกองทัพระดับสูง ทำให้เพื่อนของเขาแปลกใจไม่ใช่น้อย

พลเอก มิน อ่อง หล่าย ขึ้นเป็นผู้นำกองทัพในปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมียนมากำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ระบอบประชาธิปไตย  บรรดานักการทูตในนครย่างกุ้ง ต่างกล่าวว่า เมื่อนางออง ซาน ซูจี เริ่มบริหารประเทศสมัยแรกในปี 2016 พลเอก มิน อ่อง หล่าย ได้เปลี่ยนแปลงตนเองจากนายทหารที่เงียบขรึม สู่นักการเมืองและบุคคลสาธารณะ




เขาใช้เฟซบุ๊คในการเผยแพร่การทำงาน รวมถึงแสดงผลงานพบปะประชุมกับบรรดาผู้นำและแขกคนสำคัญต่างๆ ไปจนถึงการอัพเดทการเข้าวัดวาอาราม เพจของเขามีผู้ติดตามแล้วหลายแสนคน ก่อนที่จะถูกเฟซบุ๊คสั่งปิดไปในปี 2017 จากกรณีที่กองทัพทัตมาดอว์ปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างรุนแรง

ผู้สังเกตการณ์ยังกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่า พลเอกมิน อ่อง หล่ายนั้นศึกษาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในชาติอื่นๆ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความวุ่นวายเหมือนเหตุการณ์ในลิเบีย และชาติตะวันออกกลางอื่น ๆ ในช่วงการปฏิวัติอาหรับสปริง

ขณะเดียวกัน ผู้นำกองทัพเมียนมาไม่เคยแสดงเจตนารมณ์ว่ากองทัพเตรียมพร้อมจะยกเลิกโควตาสมาชิกรัฐสภาของกองทัพ  รวมทั้งไม่เคยแสดงความต้องการที่จะยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวรรคที่ทำให้นางซูจี ไม่สามารถรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้

ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016  พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพออกไปอีกสมัยเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นก้าวย่างที่ทำให้บรรดาผู้สังเกตการณ์ประหลาดใจ เพราะมีการคาดการณ์ว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงเวลานั้นที่มีการปรับโผโยกย้ายทหารฃ




กองทัพเมียนมาถูกกล่าวหาว่าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องหนีตายเข้าไปในบังกลาเทศ คณะสอบสวนขององค์การสหประชาชาติรายงานว่า ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมามีทั้งสังหารหมู่ ข่มขืน วางเพลิง และเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ด้วยเหตุนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และผู้นำกองทัพเมียนมาอีกสามคนในปี 2019

ในขณะที่ศาลระหว่างประเทศหลายศาล ซึ่งรวมถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจยังคงพิจารณาการไต่สวนเรื่องดังกล่าวอยู่ และในปี 2019 คณะผู้สอบสวนของสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้มาตรการคว่ำบาตรทงการเงิน พุ่งเป้าไปที่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาด้วย


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง