รีเซต

ศักยภาพไทย ศูนย์กลาง “การแพทย์-สุขภาพ” ระดับโลก

ศักยภาพไทย ศูนย์กลาง “การแพทย์-สุขภาพ” ระดับโลก
TNN ช่อง16
27 กุมภาพันธ์ 2567 ( 20:56 )
36
ศักยภาพไทย ศูนย์กลาง “การแพทย์-สุขภาพ” ระดับโลก

การประกาศเดินหน้ายกระดับไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub ) เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ การขับเคลื่อนประเทศนับจากนี้ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในโอกาสรัฐบาลทำงานครบ 6 เดือน นับเป็นยุทธศาสตร์และกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ


โดยเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub )ผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์กลางดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก นับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นจะดึงดูดต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ โดยในปี 2566 การท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์และสุขภาพ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 4 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่าไทยเป็นเลิศทางการแพทย์สำหรับคนทั่วโลกและสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ


ข้อมูลการเติบโตการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย พบว่าธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์เป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมุ่งเน้นพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(Medical Hub)และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547  และในปี 2559 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2559 ถึงพ.ศ. 2568) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) 


โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทย เป็นที่นิยมจากผู้รับบริการจากต่างประเทศ ได้แก่ อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ความพร้อมทางการแพทย์และสถานพยาบาล มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเทคโนโลยีทันสมัย มีการต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม และการให้บริการมีคุณภาพที่ได้รับการรองรับมาตรฐานสากล 


ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566 ประเทศไทย มีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI หรือ Joint Commission International จำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนกว่า 59 แห่ง (ทั่วประเทศ) โดย JCI เป็นองค์กรอิสระจากอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำหน้าที่รับรองคุณภาพสถานพยาบาล 


และในปี 2564 ประเทศไทยได้รับการประเมินคะแนน MTI (Medical Tourism Index) อยู่ที่ 66.83 คะแนน โดยอยู่ที่ อันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต้องคำนึงถึงสาขาวิชาทางการแพทย์หรือการรักษาโรคเฉพาะทาง (Subspecialty) ที่ประเทศไทยมีความพร้อม โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้สำรวจความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์บ่งชี้ว่าสาขาวิชาการแพทย์ หรือ การรักษาโรคเฉพาะทางที่ประเทศไทยมีความพร้อม ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอันดับต้นๆได้แก่ 


โรคหัวใจ(Cardiac) โรคกระดูกและข้อ(Bone & Joint) โรคทางเดินอาหารและตับ (G.I. & Liver) โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง (Spine) โรคมะเร็ง (Malignancy Diagnostic & Treatment) ภาวะการมีบุตรยาก(Infertility) และโรคทางสมองและประสาทวิทยา (Brain & Neurology) 


ทั้งนี้ยังมีข้อมูลว่า สัดส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยมี “ความพร้อม” ในการรักษาโรคเฉพาะทาง (Subspecialty) สาขาต่างๆ แก่ชาวต่างชาติ ในระดับพร้อมถึงพร้อมอย่างยิ่ง มีความพร้อมตั้งแต่ร้อยละ 76 -86


ส่วนเครื่องมือแพทย์ ไทยก็เป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ(เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศส) ที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งรายได้ถึง 80.9% (ข้อมูลล่าสุดปี2562) 


อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไทย มีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยในอนาคตภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หรือ AI จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 


นอกจากการบุคลากรแพทย์ ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงด้านการดูแลสุขภาพ ด้วยสปาไทย การแพทย์แผนไทย นวดไทย สมุทรไพรไทย ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ TNNช่อง 16 ยืนยันว่าไทยมีการขับเคลื่อน Medical Hub มาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะเป็นนโยบายสำคัญทั้งมิติในการดูแลสุขภาพคนไทย และต่างชาติที่เดินเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในไทย ที่สำคัญจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น เช่นที่จังหวัดภูเก็ตมีศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ที่มีความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีแผนจะขยายไปอีก 31 จังหวัด เช่นเดียวกับ ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) การบริการของเอกชนก็มีความพร้อมในเบื้องต้น เหลือเพียงระบบการบริหารจัดการที่ต้องเข้าไปเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างกัน


ทั้งนี้ ความสำเร็จของการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์สู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีการเชื่อมโยง Health Ecosytem อย่างเป็นระบบ มีการผสามเทคโนโลยีกับนวัตกรรมทางการแพทย์ และต้องมีการลงทุนจากภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่


เรียบเรียงโดย

มัชรี ศรีหาวงศ์


ข้อมูลจาก 

: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

: TNNช่อง 16

ข่าวที่เกี่ยวข้อง