รีเซต

เมื่อต้องเป็น“แม่”ในวันที่ยังไม่พร้อม

เมื่อต้องเป็น“แม่”ในวันที่ยังไม่พร้อม
062528XXXX
5 สิงหาคม 2563 ( 18:24 )
738
1

   ในช่วง วันแม่ ยังมีเรื่องราวของ"ผู้หญิง"ที่เชื่อ่าทุกคนล้วนอยากเป็น“คุณแม่”ที่สมบูรณ์แบบ มีพ่อ แม่ ลูก พร้อมหน้าในครอบครัว แต่เมื่อชีวิตจริงเลือกในสิ่งที่อยากให้เป็นไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต "ผู้หญิง" หลายคนต้องฝ่าฟัน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ 

 

     “ช่วงก่อนโควิด19 จะระบาด หนูก็ยังทำงานในโรงงานได้ แต่ก็เริ่มอึดอัดบ้าง เพราะเริ่มรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5-6 เดือน ก็ยังไปทำงานทุกวัน จนกระทั่งสถานการณ์การระบาดของโควิด19 เริ่มเพื่อขึ้น และทางโรงงานก็ทราบว่า เราตั้งครรภ์ ทำให้ไม่ได้ต่อสัญญาจ้างงาน และเมื่อตกงานก็ทะเลาะกับแฟน จนต้องแยกทางกัน อีกทั้งเมื่อทางบ้านทราบว่าหนูตั้งครรภ์ พ่อและแม่ก็ไม่ยอมรับ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่มากๆเลยค่ะ” 

 

     

 

     บางส่วนจากการบอกเล่า จาก ผู้หญิงวัย 26 ปี ที่เธอเข้ามาขอความช่วยเหลือจาก “บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง” ในสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทำให้วันนี้ เธอกลับมายืนหยัด ในบทบาท “คุณแม่” ผู้เข้มแข็งได้อีกครั้ง 

 

     คุณแม่มือใหม่ที่เดิมไม่พร้อมจะเป็นแม่ แต่วันนี้ เธอ กำลังมีความสุขกับการเป็น "แม่" ได้เล่าชีวิตหลังคลอดว่า เป็นความรู้สึกว่าตัวเองจะต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น ต้องตั้งใจทำงาน และตั้งใจจะเลี้ยงดูลูกให้ดี แม้ว่าจะยังไม่มีงานทำในตอนนี้ แต่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะฝึกฝนอาชีพในช่วงเวลาที่อยู่บ้านพักฉุกเฉิน เตรียมตัวออกไปหางานทำ เพื่อเลี้ยงลูกในอนาคตให้ได้

 

     แม้ว่า แนวคิดเดิมของเธอได้เตรียมแผนที่จะยกลูกให้เป็น บุตรบุญธรรมของครอบครัวอุปถัมภ์ เพราะมองว่า อนาคตของลูกจะไปได้ดีกว่า เมื่อได้อยู่กับพ่อแม่บุญธรรมที่มีความพร้อมมีกำลังจะเลี้ยงดูลูกให้เติบโตให้ได้ดี แต่เมื่อเริ่มให้ “นมแม่” ด้วยตนเอง สัมผัสแรกของลูกเมื่อดูด “นมแม่” ทำให้เธอเริ่มเปลี่ยนความคิด อยากตั้งใจเลี้ยงลูกให้เติบโตให้ได้ดีด้วยตนเอง

 

     “ตอนแรกหนู ก็อยากยกเขาให้กับคนที่พร้อม แต่เมื่อได้ อุ้มเขา กอดเขา หนูเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากให้เขาห่าง รักเขา พอเขาดูดนม เห็นเขากิน นมก็รู้สึกดีใจว่าเขากินนมได้ และเขากินเก่ง อุ้มมาทุกวัน จนเริ่มอยากเอาเขากลับไปด้วยแล้วหากจะต้องออกไปเริ่มต้นชีวิตข้างนอกอีกครั้ง” คุณแม่มือใหม่ เล่าไปพร้อมกับน้ำตาแห่งความสุขซึมออกมา 

 

 

   จุดเปลี่ยนของวันที่สับสนในชีวิตของเธอ เมื่อต้องเผชิญสารพัดปัญหารุมเร้า คุณแม่มือใหม่รายนี้ ได้ให้แนวคิดของวันที่ต้องเผชิญสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมว่า “ปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ขอให้เชื่อว่า ทุกปัญหามีทางออก เมื่อต้องรับมือกับปัญหา ก็ขอให้อย่าโทษตัวเอง อย่าคิดทำร้ายตัวเอง ต้องคิดว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องคิดหาทางออกต่อไป และต้องให้กำลังใจตัวเราเองด้วย ต้องไม่เครียดจนมากไป” 

 

     ส่วนการที่เธอ หาทางออกให้กับปัญหาของตัวเองได้นั้น คุณแม่ รายนี้บอกว่า เมื่อตกงาน และสามีแยกทางไป ก็เริ่มเสริชหาข้อมูลในกูเกิ้ล และพบว่ามีเพจของ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง จึงเริ่มติดต่อเข้ามาทางบ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง และได้เข้ามาสู่การช่วยเหลือในที่สุด 

 

 ภาพ "ครูไกด์" นายคัญฑนิกม์ นิโรธร หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาบ้านพักฉุกเฉิน ประจำบ้านพักฉุกเฉิน

 

   นายคัญฑนิกม์ นิโรธร หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาบ้านพักฉุกเฉิน ประจำบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงโควิด19  ที่ผ่านมา บ้านพักฉุกเฉินจำเป็นต้องหยุดรับเคสที่ขอความช่วยเหลือเข้ามา เนื่องจากต้องป้องกันการระบาดและเป็นการปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด แต่เราก็ยังให้ความช่วยเหลือกับผู้หญิงที่มีปัญหาถูกกระทำ หรือไม่พร้อมในเรื่องการตั้งครรภ์ผ่านการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่อง และเมื่อบ้านพักฉุกเฉินกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ก็เริ่มมีผู้หญิงที่รอความช่วยเหลือ ติดต่อเข้ามาให้เราช่วยเหลือ ปัจจุบันนี้ มีเคสใหม่เข้ามาจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย

 

  1. แม่ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือการตั้งครรภ์ไม่พร้อม  
  2. แม่ที่เป็นผู้พิการมีความบกพร่องทางสติปัญญา และมีลูกที่มีอาการออร์ทิสติกวัย 6 ปี
  3. หญิงตั้งครรภ์ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
  4. หญิงตั้งครรภ์ ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว
  5. เด็กหญิงวัย 10 ปี ที่ถูกคนในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศ (รับส่งต่อจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก) 



     ทั้ง 5 รายตอนนี้เข้ามาใช้ชีวิตและได้รับการดูแลในบ้านพักฉุกเฉิน โดยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่และสมาชิกคนอื่นที่อยู่ด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมให้คำปรึกษากลุ่ม กิจกรรมบำบัด เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบปัญหาแต่ละราย จนผ่านการประเมินเบื้องต้นแล้วว่าความรู้สึกทางด้านจิตใจเริ่มดีขึ้น 

 

 

ภาพ : นางสุดาวัลย์ คมธรรม ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

 

     ขณะที่ นางสุดาวัลย์ คมธรรม ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สะท้อนระบบของอำนาจในสังคม และจากสถิติความรุนแรงในครอบครัวยังคงพบว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดในครอบครัว ส่วนผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำยังคงตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง 

 

     “สิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้น จะต้องเริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการเคารพในสิทธิของผู้หญิง ผู้ชาย ตั้งแต่ในวัยเด็ก ต้องเริ่มปลูกฝังเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของอำนาจที่ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นผู้ชายจะมีอำนาจเหนือกว่า เป็นใหญ่กว่า และเป็นผู้หญิงจะต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้ หรือ ถูกกระทำ เท่านั้น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจะปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้เกิดขึ้นตามมา เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเราต้องช่วยกัน” ผอ.สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ระบุ 

 

 

 

 

 

     นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาในชีวิต อยากขอคำปรึกษา สามารถติดต่อสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ให้คำแนะนำปรึกษา 24 ชม. โทร. 02 929 2222

 

     ส่วนท่านใดที่อยากเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเลี้ยงอาหารกลางวัน การช่วยเหลือเยียวยาด้านต่างๆ สามารถ ติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02 929 2308 08.30-17.00 น. วันจันทร์-ศุกร์.

 

   

 รวมทั้งติดต่อผ่านทาง เฟสบุ๊ก สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง