'รถยนต์มือสองมีค่าดั่งทองคำ' เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจผลักชาติใกล้ล่มสลาย ทำตลาดรถมือสองศรีลังกาเติบโตแบบพุ่งพรวด
---ชาติจะล้ม ทำรถราคาพุ่ง---
'ศรีลังกา' ประเทศที่มีประชากรราว 22 ล้านคน ซึ่งสถานะของชาติตอนนี้ ใกล้อยู่ในจุดล่มสลายเต็มที อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลสั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่ ‘ไม่จำเป็น’ เพื่อประหยัดเงินไว้ซื้อของที่จำเป็นอย่าง อาหาร, ยา และเชื้อเพลิง
การสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องการใช้รถยนต์ จำใจต้องซื้อรถกระป๋องเล็ก ๆ หรือรถซีดานด้วยราคาที่สูงที่สุดในโลก
แอนโทนี เฟอร์นานโด ผู้ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ไปกับการขายของในโคลอมโบ เขากำลังมองหารถยนต์ที่เขาสามารถซื้อได้ ให้กับลูกสาวเขา โดยเขาใช้เวลาตามหาราคาที่ต้องการอยู่แรมปี
“เธอคิดว่าราคามันน่าจะลงกว่านี้ แต่ตอนนี้ราคามันสูงเกินที่จะเอื้อมถึง” เฟอร์นานโด กล่าวกับสำนักข่าว AFP
---แพงกว่าราคาจริงหลายเท่า---
ราคารถยนต์ Toyota Land Cruiser มีอายุการใช้งาน 5 ปี ราคาในตลาดออนไลน์ตอนนี้อยู่ที่ 312,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 10 ล้านบาท ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบจากราคาแต่ก่อน และราคานี้ ยังสามารถซื้อบ้านขนาดกลางในโคลอมโบ หรืออพาร์ตเมนต์สุดหรูย่านใจกลางเมืองได้อย่างสบาย ๆ
หรือจะเป็นรถยนต์ Fiat 5 ที่นั่ง อายุการใช้งานนับสิบปี พร้อมกับเครื่องยนต์พัง ๆ ยังมีมูลค่าอยู่ที่ 8,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.74 แสนบาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของชาวศรีลังกาถึง 2 เท่า
“Suzuki Wagon R ราคาจริงอยู่ราว 5 แสนบาท แต่ราคาขายตอนนี้อยูที่ 1.66 ล้านบาท” สารัช ยะภา บัญดารา เจ้าของเต็นท์รถมือสอง กล่าว
“รถและบ้านเป็นเครื่องหมายการค้าแห่งความสำเร็จ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงตัดสินใจซื้อรถ แม้ว่ามันจะมีราคาที่สูงมาก ๆ” เขา กล่าว
---รถคือสิ่งจำเป็น---
การเป็นเจ้าของรถยนต์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเดินทางบนท้องถนนที่มีการจราจรหนาแน่นในโคลอมโบ เพราะรถโดยสารสาธารณะของประเทศยังมีปัญหา ผู้คนต้องเบียดเสียดใช้บริการ
รวมถึงจำนวนตัวเลขแท็กซี่ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนขับต่างแห่ขายเพื่อแลกกับราคาที่น่าเวียนหัว และคนที่ยังให้บริการอยู่ก็เรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากราคาเดิม หรือมากกว่านั้น
“คุณต้องมีรถเป็นของตัวเอง” อุดายา ฮีโกดา อรัชชิ ผู้ที่กำลังกัดฟันซื้อรถเป็นของตัวเอง กล่าว
“เราไม่สามารถคาดได้ว่าราคามันจะลดลงในเร็ว ๆ นี้ กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนี้” เขา กล่าว
---โควิดทำประเทศชะงัก---
โควิด-19 ทำให้ศรีลังกาต้องหยุดชะงัก รายรับทั้งหมดที่สำคัญของประเทศมาจากการท่องเที่ยว เดือนมีนาคม 2020 รัฐบาลออกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงรถยนต์ที่ผลิตใหม่ด้วย เพื่อระงับเงินตราต่างประเทศรั่วไหลออกนอกประเทศ
แต่นโยบายดังกล่าว ก็ไม่สามารถหยุดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศได้ และทำให้ต้องดิ้นรนหาแหล่งสินค้าสำคัญส่งออกอื่นแทน
ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถหาแก๊สหุงต้มได้ และไม่มีเงินที่จะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ ชาวนาไม่มีปุ๋ยสำหรับปลูกข้าว
ทั้งนี้ หน่วยงานจัดอันดับเตือนว่า ศรีลังกาอาจผิดนัดชำระหนี้เร็ว ๆ นี้ แม้ว่ารัฐบาล กล่าวว่า จะทำตามพันธกรณี และพยายามเจรจาใหม่กับเจ้าหนี้อย่าง ประเทศจีน อีกครั้ง
---ค่าซ่อมก็แพง---
การห้ามนำเข้ารถยนต์ทำให้เกิดการขาดแคลนอะไหล่รถยนต์ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้รถยนต์ทุกคนอาจจะต้องเผชิญกับค่าซ่อมรถที่สูงมาก หากรถของพวกเขาเสีย
ราวี เอกนายาเกะ เจ้าของอู่ซ่อมรถ กล่าวว่า อู่ซ่อมรถของเขาในโคลอมโบ กำลังยุ่งอยู่กับการซ่อมรถของเจ้าของที่ไม่สามารถจ่ายเงินแพงมหาศาลในการซื้อรถใหม่ได้
“เราไม่มีการผลิตรถยนต์ในศรีลังกา ส่วนใหญ่เรานำเข้ามาจากอินเดีย ตามด้วยญี่ปุ่น ซึ่งชาวศรีลังกาจะรักรถมาก เพราะมองว่ารถเป็นสินทรัพย์ที่แท้จริง มันเป็นสินทรัพย์แห่งการบริโภคและการผลิต” มูร์ตาชา จาฟเฟอร์จี นักวิเคราะห์ทางการเงิน กล่าว
---เงินเฟ้อพุ่ง 14%---
จาฟเฟอร์จี กล่าวว่า ราคายังย้ำเน้นถึงปัญหา ที่เกิดจากการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป จากธนาคารกลาง “เงินมากไป สินค้าน้อยเกิน”
“เนื่องจากการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ และความกลัวว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะลดลง ความเข้าใจว่ารถยนต์คือสินทรัพย์ที่แท้จริง การจัดหาสินค้ามีจำนวนจำกัด ทำให้ความต้องการสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิต และประเทศไม่มีการนำเข้ารถยนต์ใหม่ จึงทำให้ราคารถยนต์ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นสูง” จาฟเฟอร์จี กล่าว
จาฟเฟอร์จี กล่าวด้วยว่า ค่าโดยสารรถสาธารณะยังเพิ่มสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพุ่งไปที่ 14% ในเดือนธันวาคม
“เมื่อยานพาหนะกลายเป็นสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้ กิจกรรมของพวกเขาจะถูกจำกัด และเราก็จะเห็นการสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจ” CEO ของ JB Securities กล่าว
“เรากำลังจะล่มสลาย แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่มากที่ชอบทำตัวเหนือลอยปัญหา”
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: ISHARA S. KODIKARA / AFP