รีเซต

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.5 ล้านล้าน! อยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี - ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบงก์ชาติชี้โควิดเป็นเหตุ

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.5 ล้านล้าน! อยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี - ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบงก์ชาติชี้โควิดเป็นเหตุ
ข่าวสด
22 ตุลาคม 2563 ( 16:22 )
91
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.5 ล้านล้าน! อยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี - ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบงก์ชาติชี้โควิดเป็นเหตุ

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.5 ล้านล้าน - นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของคนไทย ทำให้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 83.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็น 13.49 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ ธปท. ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่เป็นลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย, การลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ส่วนในระยะยาว ต้องส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับรูปแบบของสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่ไปด้วย

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คือ รายได้ครัวเรือนถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ โดยประเมินว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือประมาณไตรมาส 3/2565 กว่าที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนที่เกิดการระบาด” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เห็นในขณะนี้คืออุปสงค์หายไปมากจากภาคท่องเที่ยวและการส่งออก ส่วนการจะทำให้อุปสงค์กลับมาก็ต้องมาจากการบริโภค การลงทุน ซึ่งเป็นบทบาทของภาครัฐ กระทรวงการคลัง ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ ธปท. ที่ทำได้ คือการสร้างความมั่นใจให้กับระบบสถาบันการเงินว่ายังมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพที่จะให้เอกชนและภาคครัวเรือนเดินต่อไปได้

ทั้งนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งต้องดูให้เกิดความเหมาะสมที่สุด โดยต้องไม่ใช่มาตรการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเหมือนปูพรมหรือเหมาเข่ง เพราะไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่มาตรการให้ความช่วยเหลือจะต้องตรงจุดและครบถ้วน มีการแยกแยะลูกหนี้ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย

“จำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องออกมาตรการเพิ่ม แต่จะออกเมื่อไหร่นั้น ธปท. กำลังดูอยู่ ซึ่งมาตรการจะต้องเหมาะสม เพราะวิกฤตที่เกิดกับเศรษฐกิจรอบนี้จะใช้เวลานานในการฟื้นตัว และมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะต้องมีความยืดหยุ่น ครบถ้วน ครบวงจร ธปท. ไม่ได้ละเลย บางเรื่องต้องแก้เร็ว ส่วนเรื่องที่สำคัญตอนนี้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง