รีเซต

ย้อนดูนโยบายกำแพงภาษี Smoot-Hawley ของสหรัฐฯ ปี 1930 ที่กระทบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

ย้อนดูนโยบายกำแพงภาษี Smoot-Hawley ของสหรัฐฯ ปี 1930 ที่กระทบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2568 ( 15:50 )
7

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า จนกระทบต่อเศรษฐกิจต่อทั้งโลก แต่เมื่อ 95 ปีก่อน หรือในปี ค.ศ. 1930 สหรัฐฯ ก็มีนโยบายภาษีครั้งใหญ่มาแล้ว และก็ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกเจอกับ Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 


ย้อนดู Smoot Hawley Tariff Act กฎหมายขึ้นภาษีในปี 1930

Smoot Hawley Tariff Act หรือ พระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสมูต-ฮอว์ลีย์ เป็นกฎหมายการเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 1930 ซึ่งผ่านการลงนามโดยประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1930 เป็นกฎหมายที่เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจและเกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายนี้มีชื่อเต็มว่า Tariff Act of 1930 และตั้งชื่อตามผู้สนับสนุนหลักคือ วุฒิสมาชิกรีด สมูต (Reed Smoot) แห่งรัฐยูทาห์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วิลลิส ฮอว์ลีย์ (Willis C. Hawley) แห่งรัฐโอเรกอน 


(วิลลิส ฮอว์ลีย์ และกรีด สมูต ภาพจาก Library of Congress)

กฎหมายนี้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ ปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจและเกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในตอนนั้น เกษตรกรชาวอเมริกันกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษ 1920 เกษตรกรเหล่านี้ประสบกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและการแข่งขันจากการนำเข้าจากยุโรป ที่ฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมาได้

โดยในช่วงแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1928 เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกระดับการปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศ ผ่านนโยบายภาษีศุลกากรที่เข้มงวดขึ้น

ในตอนแรก กฎหมายนี้ต้องการขึ้นภาษีมากถึง 40% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตน์สหรัฐฯ แต่สุดท้ายเมื่อกฎหมายผ่านสภามาได้หวุดหวิด ก็ได้ตั้งกำแพงภาษี หรือเพิ่มภาษีศุลกากรเฉลี่ยประมาณ 20% โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต 

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะในช่วงนั้นได้มีนักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 1,000 คน ที่ร่วมกันลงชื่อในคำร้องเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮูเวอร์ยับยั้งร่างกฎหมายนี้ โดยเตือนถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ แต่ฮูเวอร์ก็ลงนามรับรองกฎหมายนี้โดยหวังว่าตนจะสามารถใช้อำนาจที่ได้รับภายใต้กฎหมายในการปรับลดภาษีศุลกากรเฉพาะรายการได้ถึงร้อยละ 50 หากเห็นว่าส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ


สงครามการค้า จากนโยบายภาษีสหรัฐฯ

หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผลกระทบที่ตามมานั้นรุนแรงและขยายวงกว้าง โดยเฉพาะกับประเทศที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ รวมถึงต้องใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 

รวมถึงกว่า 25 ประเทศได้ตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรของตนเอง ส่งผลให้เกิดสงครามการค้าทั่วโลก และภายในระยะเวลาไม่กี่ปี การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงถึง 66% และระหว่างปี 1929 ถึง 1934 การส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ลดลงในระดับเดียวกัน และการนำเข้าและส่งออกของสหรัฐฯ  ไปยังยุโรปยังลดลงประมาณ 2 ใน 3 ด้วย

ทำให้มีการมองว่าผลกระทบจากภาษีศุลกากรนี้ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทวีความรุนแรงขึ้น


แล้วนโยบายภาษีนี้ เป็นต้นเหตุของ Great Depression จริงไหม ?

มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ให้ความเห็นว่า Smoot-Hawley ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อรวมกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่มองเช่นกันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ต้นเหตุหลัก แต่การเพิ่มภาษีศุลกากร ก็ทำให้ประเทศที่กำลังดิ้นรน และลำบาก ต้องประสบกับปัญหามากขึ้น รวมถึงประเทศที่เป็นหนี้สหรัฐฯ และทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรของตนเอง ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก

ผลของ Smoot-Hawley ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน โดยเฉพาะวอลล์สตรีท ทั้งยังเป็นการมองว่า การขึ้นภาษีในลักษณะนี้คือสัญญาณของลัทธิโดดเดี่ยว (isolationism) ที่สหรัฐฯ เริ่มดำเนินนโยบายแบบแยกตัวจากโลกภายนอก


จุดจบของ Smoot Hawley Tariff Act ที่ถูกแทนด้วยเสรีการค้า

แต่นโยบาย Smoot Hawley ก็อยู่ได้เพียงไม่นานในช่วงสมัยของ ปธน.ฮูเวอร์ โดยในการเลือกตั้งปี 1932 ฮูเวอร์ได้พ่ายแพ้ให้กับแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ รวมไปถึงทั้งสมูตและฮอว์ลีย์ผู้เป็นตัวหลักในการเสนอนโยบายนี้ก็สูญเสียที่นั่งในสภาไปเช่นกัน 

หลังประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 1933 เขาได้ลงนามในพระราชบัญญัติข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (Reciprocal Trade Agreements Act) ในปี 1934 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติแนวทางภาษีสูงของ Smoot-Hawley และแทนที่ด้วยข้อตกลงทวิภาคีที่ช่วยลดภาษีและเปิดเสรีการค้าแทน

ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีบทบาทนำในการตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) ขณะที่กฎหมาย Smoot-Hawley ถูกทั้งนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า "เป็นหนึ่งในการกระทำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภา"


Smoot-Hawley และนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ ต่างกันอย่างไร ?

สำนักข่าว Fortune ประเมินว่า แผนภาษีของทรัมป์เสนออัตราภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยสูงถึง 22.7% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ Smoot-Hawley ที่อยู่ราว 20% 

แม้ว่าทั้งสองนโยบายจะมีเป้าหมายคล้ายกันคือการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ แต่กลยุทธ์ของทรัมป์นั้นแตกต่าง โดย Smoot-Hawley เน้นไปที่สินค้าเกษตรกรรมและการผลิตเป็นหลัก ขณะที่ แผนของทรัมป์มุ่งเป้าไปที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยมีอัตราการลงโทษที่ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับภาษีศุลกากรในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น โควตาและมาตรฐานการกำกับดูแลด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นผล และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองนโยบายก็คล้ายกัย เพราะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้จากต่างประเทศ อย่างที่จีนได้ประกาศภาษีตอบโต้สินค้าของสหรัฐฯ ร้อยละ 34 ไปแล้ว จึงมีสถานการณ์จึงมีลักษณะของสงครามการค้าสมัยใหม่ ที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 

แต่หากถึงวันดีเดย์ บังคับใช้กฎหมายที่ทรัมป์ประกาศเมื่อไหร่ เราคงต้องจับตาดูกันว่า จะกระทบทุกภาคส่วน และเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหนกัน


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง