รีเซต

"โรงงานจีน"หยุดผลิตจากภาษีทรัมป์ แรงงานเสี่ยง 20 ล้านคน วิ่งขออินเดียช่วย

"โรงงานจีน"หยุดผลิตจากภาษีทรัมป์ แรงงานเสี่ยง 20 ล้านคน วิ่งขออินเดียช่วย
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
8

ภาษีทรัมป์ มีผลกระทบไปยังโรงงานต่างๆในประเทศจีนแล้ว

หลายโรงงานเริ่มสั่งหยุดการผลิต แรงงานถูกสั่งให้หยุดงาน เริ่มชะลอการทำงานเอาไว้ก่อน

เพราะไม่รู้ว่าสินค้าที่ทำไปนั้นจะส่งออกได้ หรือขายได้หรือไม่ 

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าธุรกิจจีนกำลังหนีตายด้วยการหาทางย้ายการผลิตไปที่อินเดียด้วยเช่นกัน 


อ้างอิงจากรายงานข่าวของ CNBC ระบุว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ 

หรือภาษีตอบโต้ จากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ซึ่งกลายเป็นศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศจีนแล้ว 

คำสั่งซื้อที่เคยมีหายไป และเริ่มมีผลกระทบต่อการจ้างงานของบริษัทต่าง ๆ  

ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่าผู้ผลิตในจีนหลายรายได้หยุดการผลิตบางส่วนและเร่งมองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆเช่นกัน


ข้อมูลจาก คาเมรอน จอห์นสัน (Cameron Johnson) หุ้นส่วนอาวุโส

จากบริษัทที่ปรึกษา Tidalwave Solutions ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า

เขารู้จักโรงงานหลายแห่งที่สั่งให้พนักงานครึ่งหนึ่งกลับบ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และหยุดการผลิตเกือบทั้งหมด  

พร้อมระบุอีกว่า โรงงานที่ผลิตของเล่น อุปกรณ์กีฬา 

และสินค้าราคาถูกแบบที่ขายในร้าน Dollar Store ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในขณะนี้

ซึ่งแม้ขณะนี้ผลกระทบจะยังไม่แพร่หลายเป็นวงกว้าง แต่เหตุการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในจุดศูนย์กลางการส่งออกสำคัญ ๆ 

เช่นเมืองอี้อู พื้นที่แหล่งค้าส่งที่ใหญ่ที่สุด และเมืองตงก่วน ที่ได้รับฉายาว่าโรงงานของโลก 

และหลายฝ่ายกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์นั้นจะลุกลามบานปลายออกไป 

ขณะที่หลายบริษัทก็ยังมีความหวังว่าภาษีนำเข้าจะลดลงในอนาคตเพื่อให้คำสั่งซื้อกลับมาได้ 

ดังนั้นในระหว่างนี้จำเป็นต้องพักงานพนักงานบางส่วนและหยุดสายการผลิตชั่วคราวเอาไว้ก่อน 


ด้าน Goldman Sachs ประเมินว่ามีแรงงานในจีนราว 10–20 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจส่งออกไปยังสหรัฐ 

จากจำนวนแรงงานในเมืองของจีนทั้งหมดที่มี 473.45 ล้านคนในปีที่แล้ว

ทั้งนี้สหรัฐได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีสินค้าจีนกว่า 100% หลายครั้ง และจีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน 

แม้จะมีสัญญาณบวกออกมาว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาพูดว่ามีการเจรจาการค้ากับจีนเกิดขึ้นแล้ว 

แต่ฟากฝั่งของทางการจีนกลับออกมาปฏิเสธหรือโต้ข่าวว่าไม่จริง ยืนยันว่ายังไม่มีการเจรจาใด ๆในเดือนเมษายน 


ภาษีตอบโต้ที่สหรัฐมอบให้จีนสูงกว่า 145  % และบางรายงานระบุว่าสินค้าบางอย่างอาจพุ่งไปถึง 245  %ด้วยซ้ำ

เป็นสงครามการค้าที่โจมตีตอบโต้กันด้วยภาษีที่รุนแรงที่รอบในรอบร้อยปี

เป็นวิกฤต ที่กำลังก่อเกิดขึ้น  และหลายฝ่ายกังวลว่ามันอาจจะไปไกล สาหัสกว่า โควิด 19 

เช่น ความเห็นจาก Ash Monga ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทจัดการซัพพลายเชน 

Imex Sourcing Services ในกวางโจว 

เชื่อว่าผลกระทบจากการเพิ่มภาษีรอบล่าสุดรุนแรงยิ่งกว่าช่วงโควิด-19 

 โดยระบุว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่มีทรัพยากรเพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์ 

อาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ และอาจต้องปิดกิจการในที่สุด

ดังนั้นทุกคนจึงต้องเร่งรับมือให้ทันท่วงที 

หาทางรอดด้วยการตลาดออนไลน์


หนึ่งในจุดแข็งของจีน คือ การค้าขายบนอีคอมเมิร์ซ

โดยเฉพาะการบุกเบิกไลฟ์สดขายของ

และวันนี้ การไลฟ์ขายของบนออนไลน์

ก็อาจจะเป็นหนึ่งในรอดของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน 


ระหว่างที่สงครามการค้ายังระอุ

ผู้ส่งออกจีนต้องหาทางเอาตัวรอด ตลาดออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีและมีประสิทธิผล 

เช่นแบรนด์ Woodswool ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดกีฬา ได้หันมาไลฟ์ขายของ 

ขายสินค้าโดยตรงจากบริษัทผ่านไลฟ์สตรีมบนแพลตฟอร์ม Baidu (ไป๋ตู้) 

และหลังจากเปิดตัวเพียงหนึ่งสัปดาห์ บริษัทได้รับคำสั่งซื้อมากกว่า 30 รายการ 

รวมมูลค่ากว่า 5,000 หยวน (ประมาณ 690 ดอลลาร์สหรัฐ)


ตัวแทนจากแบรนด์ระบุว่าบริษัทกระทบอย่างหนักจากภาษีทรัมป์

เพราะคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ของบริษัทถูกยกเลิกทั้งหมด 

และการส่งออกไปยังสหรัฐก็เป็นตลาดหลัก คิดแล้วมากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดด้วย

และขณะนี้โรงงานบางส่วนต้องหยุดผลิตนานถึง 2-3 เดือน

ระหว่างรอตลาดใหม่ๆที่จะมาชดเชยได้ เช่น ในยุโรปและออสเตรเลีย


โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้ผลักดันนโยบายให้ผู้ส่งออกหันมาทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น

และการปรับตัวเข้าสู่ตลาดไลฟ์สตรีมมิ่งก็นับเป็นทางเลือกที่ทุกแบรนด์พยายามอยู่ 

โดยเฉพาะแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยักษใหญ่ของจีน ไป๋ตู้ Baidu 

ที่ได้พยายามเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจในจีนเช่นกัน

ด้วยให้บริการเครื่องมือเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ฟรี เช่น ระบบ "Huiboxing" 

เป็นการสร้างมนุษย์เสมือนจริงที่สามารถนำเสนอสินค้าและโต้ตอบกับลูกค้าแบบอัตโนมัติ 

และบริษัทอ้างว่าช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่าการใช้พนักงานจริง


นอกจากนี้ ยังมี JD.com ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแรกที่ประกาศมาตรการสนับสนุนผู้ส่งออกจีน 

ตั้งงบประมาณ 200,000 ล้านหยวน (27.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเข้ามาช่วยซื้อสินค้าของบริษัทต่างๆ 

ที่จากเดิมมีเป้าหมายสำหรับตลาดต่างประเทศ 

โดยหวังว่าจะมาช่วยบรรเทาแรงกระแทกของตลาดส่งออก

โดยปีที่ผ่านมาจีนมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากถึง 524.66 พันล้านดอลลาร์



ข้อมูลที่น่าตกใจจากประธานหอการค้าอเมริกันในจีน  ไมเคิล ฮาร์ต เปิดเผยว่า 

หลายธุรกิจในจีนยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายใต้ภาษี 125% 

และเมื่อกลับมาแข่งขันกันเองภายในประเทศก็ไม่ง่าย

กลายเป็นศึกการค้าภายในประเทศที่รุนแรงอย่างมาก

แถมสินค้าที่ผลิตออกมาเพื่อตลาดสหรัฐ ก็ไม่ตอบโจทย์ตลาดในจีนด้วย 


ดังนั้นสินค้าจากจีนจึงต้องหาตลาดนอกสหรัฐให้ได้ โดยมุ่งไปที่อเมริกาใต้ และแอฟริกา 

และนอกจากนี้ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นจากสหรัฐฯ 

บริษัทจีนหลายแห่งก็เริ่มลดการส่งสินค้าอ้อมผ่านประเทศที่สาม 

และหันไปย้ายกำลังการผลิตไปยังอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน 

หรือปรับเปลี่ยนตลาดเป้าหมายไปยังยุโรปและละตินอเมริกาแทนด้วย


ธุรกิจจีนขอธุรกิจอินเดียช่วย


นอกจากหาตลาดใหม่ 

ล่าสุดมีข่าวว่าธุรกิจในจีนก็กำลังมองหาฐานผลิตใหม่ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ใช่เวียดนาม หรืออาเซียน

แต่เป็นอินเดียที่กำลังพร้อมและโดนภาษีน้อยกว่าชาติอื่น


บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ผู้ส่งออกชาวอินเดียหลายรายออกมาเปิดเผยว่า 

มีผู้ประกอบการจีนหลายรายเข้ามาขอเจรจาธุรกิจขอให้ช่วยจัดส่งสินค้าไปยังสหรัฐ

ข้อมูลจาก อาเจย์ ซาไฮ (Ajay Sahai) อธิบดีสหพันธ์ผู้ส่งออกแห่งอินเดีย (Federation of Indian Export Organizations) 

อ้างว่า ในงานแคนตั้นแฟร์ (Canton Fair) หรือกวางเจาเทรดแฟร์ (Guangzhou Fair) 

ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าและส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่เริ่มจัดเมื่อกลางเมษายนที่ผ่านมา

มีบริษัทจีนหลายรายเข้ามาพูดคุยให้ผู้ประกอบการชาวอินเดียช่วยจัดส่งสินค้าของจีนไปยังสหรัฐ

 โดยรายได้จากการขายจะถูกแบ่งมาจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับบริษัทจีน

ทั้งนี้เพราะอินเดียถูกรีดภาษีนำเข้าจากสหรัฐเพียงแค่ 10 % เมื่อเทียบกับจีนที่รีดถึง 145% 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยังคงมีข้อจำกัดเงินลงทุนจากจีนอย่างเข้มงวด

ทำให้บริษัทจีนไม่สามารถดำเนินธุรกิจในอินเดียได้ง่าย ๆ ต่างจากกลุ่มอาเซียนที่ผ่านมาในสมัยทรัมป์ 1.0 

ดังนั้นจึงเป็นการขอความร่วมมือให้บริษัทอินเดียจัดส่งสินค้าจีนไปยังสหรัฐแทน 

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าเครื่องมือช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในบ้าน


วันนี้โรงงานจีนชะลอการผลิต หยุดการผลิตชั่วคราว 

และเฝ้ารอความหวังว่าทุกอย่างจะมีทางออก จะได้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง

แต่ถ้าหากสงครามการค้า สหรัฐ กับ จีน ยังรุนแรงและบานปลาย 

ภาษีทรัมป์จะปิดตายโรงงาน และเป็นวิกฤตครั้งใหญ่อย่างแน่นอน 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง