รีเซต

เอกสารคำร้องกัมพูชา ยื่นชี้แจงต่อ UN มีเรื่องอะไรบ้าง แล้วไทยตอบกลับว่าอย่างไร

เอกสารคำร้องกัมพูชา ยื่นชี้แจงต่อ UN มีเรื่องอะไรบ้าง แล้วไทยตอบกลับว่าอย่างไร
TNN ช่อง16
5 กรกฎาคม 2568 ( 19:58 )
19

เมื่อคืนนี้ บนโลกโซเชียล มีการพูดถึงเอกสารคำร้องภาษาอังกฤษจากทางกัมพูชา ซึ่งเผยแพร่โดยฐานข้อมูลองค์การสหประชาชาติ หรือ UN


เอกสารดังกล่าว เป็นหนังสือยื่นแจ้งต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNGA เพื่อให้รับทราบว่า รัฐบาลกัมพูชามีเจตนาจะนำคดีข้อพิพาทชายแดนเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ ทางไทยก็ได้ยื่นคำชี้แจงต่อ UN เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนเช่นกัน 


แล้วรายละเอียดของเอกสารทั้ง 2 ประเทศมีอะไรบ้าง ? 

เอกสารคำร้องของกัมพูชามีอะไรบ้าง 


ภายในเอกสารคำร้องภาษาอังกฤษ ที่เผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีจำนวนทั้งหมด 3 หน้า แบ่งเป็นจดหมายชี้แจง 2 หน้า ซึ่งลงนามโดย เคียว เซีย เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเอกสารแนบเพิ่มเติมจำนวน 1 หน้า 


เนื้อหาเอกสาร ชี้แจงว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงนายทะเบียนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะยื่นคำร้องเกี่ยวกับปัญหาชายแดนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขกับไทย 


กัมพูชา กล่าวด้วยว่า แม้จะมีคำตัดสินศาล ICJ มาก่อนหน้านี้ รวมถึงมีสนธิสัญญาและแผนที่ที่เคยตกลงกันไว้ แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติ ก็เกิดขึ้นเรื่อยมาตลอดหลายทศวรรษ โดยเฉพาะพื้นที่บริเณชายแดน


“แม้ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษาในปี 2505 และอีกครั้งในปี 2556 โดยทั้ง / คดี ยืนยันอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารและบริเณโดยรอบ แต่ความตึงเครียดยังคงมีอยู่ในพื้นที่พิพาทอื่น ๆ รวมถึงพื้นที่ม่อมเบย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย” ถ้อยคำแถลงในจดหมายของกัมพูชา ระบุ 


จดหมายกัมพูชา กล่าวต่อไปว่า การปะทะกันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2025 ทหารไทยเปิดฉากยิงทหารกัมพูชา บริเวณพื้นที่ม่อมเบย ทั้ง ๆ ที่ประจำการอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 


เหตุการณ์ดังกล่าว กระตุ้นให้เกิดการเสริมกำลังทหารบริเวณชายแดนครั้งใหญ่จากทั้ง 2 ฝั่ง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดอย่างมากในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้หวนนึกถึงการปะทะรุนแรงเมื่อปี 2551-2554 ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ, ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค 


กัมพูชา ย้ำจุดยืนของตนว่า สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ผ่านการเจรจา โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และได้พยายามแก้ปัญหานี้ ผ่านการเจรจาทวิภาค ซึ่งล้มเหลว เนื่องจากถูกขัดขวางจากการขาดเจตจำนงทางการเมืองของทางการไทย การพึ่งพาแผนที่ที่ร่างขึ้นฝ่ายเดียวอย่างต่อเนื่อง และการกระทำที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยกัมพูชา

พร้อมแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับความชาตินิยมที่เพิ่มมากขึ้นในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยแถลงจากกองทัพไทย และบุคคลทางการเมืองบางคน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์ และก่อให้เกิดความรุนแรงต่อกันได้ 


“เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีความร้ายแรงและเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อพลเมือง กัมพูชาจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขอให้ศาล ICJ พิจารณาคำร้องคดีข้อพิพาทชายแดนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน บริเวณพื้นที่ทั้ง 4 แห่งที่กล่าวถึงข้างต้น” กัมพูชา แถลง 


ทั้งนี้ กัมพูชาและไทยเคยเกิดข้อพิพาทอย่างรุนแรงบริเวณชายแดนช่วงปี 2551–2554 ก่อนที่ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยในปี 2556 ยืนยันสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหารของกัมพูชา แต่ปัญหาในพื้นที่รอบข้างยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาดจนถึงปัจจุบัน

ไทยชี้แจงว่าอย่างไรบ้าง

 

ทางด้านไทยก็ได้มีการส่งจดหมายชี้แจงต่อ UN เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน จำนวนทั้งหมด 3 หน้า แบ่งเป็น จดหมายชี้แจง 1 หน้า ลงนามโดย เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และเอกสารแนบเพิ่มเติมจำนวน 2 หน้า 


เนื้อหาเอกสารจากฝั่งไทย ระบุว่า เหตุการณ์ปะทะบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ทางกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงทหารไทยก่อน ขณะพวกเขากำลังลาดตระเวนตามปกติ ฝ่ายไทยจึงตอบโต้ เพื่อปกป้องตนเอง โดยดำเนินการตามมาตรการและหลักกฎหมายสากล  


ไทย กล่าวด้วยว่า กัมพูชาละเมิด MOU 2543 ด้วยการส่งทหารชุดใหม่ไปลาดตระเวนตรงพื้นที่พิพาท, เปลี่ยนแปลงภูมิประเทศบริเวณดินแดนพิพาท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสั่งห้ามไว้อย่างชัดเจนใน MOU 2543 และกัมพูชายังได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาล ICJ ในช่วงที่ 2 ประเทศ กำลังเจรจาผ่านการประชุม JBC ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา 


“การตัดสินใจยื่นเรื่องต่อศาล ICJ ของรัฐบาลกัมพูชา เป็นการกระทำการที่ไม่สุจริตใจโดยชัดเจน และทำลายกระบวนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน” เอกสารจากฝั่งไทย ชี้แจง 


ภายในจดหมายฉบับดังกล่า ไทยได้ย้ำจุดยืนด้วยว่า ไม่ยอบรับเขตอำนาจศาล ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ศาล ICJ จะพิจารณาคดีได้ จะต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 รัฐ 


แม้ความตึงเครียดจะยังไม่คลี่คลาย ไทยก็ยืนยันว่า จะแก้ไขปัญหานี้ ผ่านกลไกทวีภาคีที่มีอยู่ ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC), คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://documents.un.org/doc/undoc/gen/n25/162/54/pdf/n2516254.pdf

https://documents.un.org/doc/undoc/gen/n25/162/76/pdf/n2516276.pdf

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง