ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์เก็บตัวอย่างแรกบนพื้นผิวดาวอังคาร
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) ของนาซา (NASA) ได้นำหลอดเก็บตัวอย่างทั้งหมด 10 หลอด ไปวางบนพื้นผิวดาวอังคาร แล้วจะกลับมาเก็บหลอดพร้อมตัวอย่างในอีก 2 เดือน ข้างหน้า เพื่อนำทั้งหมดไปรวบรวมไว้ที่จุดทรี ฟอร์คส (Three Forks) ซึ่งทางนาซาตั้งใจให้เป็นคลังตัวอย่างแห่งแรกของมนุษยชาติบนดาวเคราะห์ดวงอื่น อันเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญมาร์ส แซมเปิล รีเทิร์น (Mars Sample Return) ที่จะมีการพิจารณาสำหรับการนำตัวอย่างเหล่านี้กลับโลก
การส่งตัวอย่างกลับโลก
ปัจจุบันยานเพอร์เซอเวียแรนซ์มีหลอดตัวอย่างพร้อมตัวอย่างอยู่กับตัวทั้งหมด 17 ชิ้น ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นตัวอย่างของชั้นบรรยากาศดาวอังคาร โดยนาซามีแผนจะให้ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์นำตัวอย่างเหล่านี้ไปยังยานลงจอดที่จะมาถึงในอนาคต เพื่อให้ยานลงจอดใช้แขนหุ่นยนต์วางตัวอย่างลงในเพย์โหลดบนจรวดขนาดเล็ก แล้วให้จรวดพุ่งขึ้นสู่วงโคจรของดาวอังคาร และใช้ยานอวกาศอีกลำในการจับเพย์โหลด เพื่อนำตัวอย่างส่งกลับสู่โลก
โดยหากแผนการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินไปได้ นาซาจะส่งเฮลิคอปเตอร์คู่หนึ่งไปนำตัวอย่างจากจุดทรี ฟอร์คส เพื่อนำตัวอย่างกลับโลกให้สำเร็จ
สำหรับตัวอย่างแรกนั้นถูกเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา เป็นหินที่มีชื่อว่ามาเลย์ (Malay) เก็บมาจากบริเวณหลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) ของดาวอังคารที่เรียกว่าเซอิทาห์ใต้ (South Séítah) ซึ่งการเก็บตัวอย่างค่อนข้างเป็นไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ใช้แขนหุ่นยนต์นำท่อตัวอย่างออกมาจากใต้ท้องของมันไม่คล่องนัก
จุดประสงค์ของยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance)
โดยวัตถุประสงค์หลักของยานเพอร์เซอเวียแรนซ์คือ การค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในสมัยโบราณบนดาวอังคารจากการศึกษาจากตัวอย่างของพื้นผิว และตัวอย่างของชั้นบรรยากาศ
ข้อมูลและภาพจาก NASA