รีเซต

เงินบาทเปิดตลาด 29.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ เกาะติดตัวเลขขอรับสวัดิการว่างงานสหรัฐฯ

เงินบาทเปิดตลาด  29.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ  เกาะติดตัวเลขขอรับสวัดิการว่างงานสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
11 กุมภาพันธ์ 2564 ( 08:01 )
94
เงินบาทเปิดตลาด  29.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ  เกาะติดตัวเลขขอรับสวัดิการว่างงานสหรัฐฯ

 นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  29.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 29.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินโดยรวมยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงมากกว่าคาด สู่ระดับ 1.4% ทำให้ตลาดกลับมากังวลปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้งและเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงหลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุด 

ความกังวลภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 200 ของสหรัฐฯ ที่สะท้อนความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ดีนั้น ปรับตัวลดลงกว่า 0.7% ขณะที่ดัชนี S&P500 ยังคงทรงตัวในระดับเดิม ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดลบ 0.35% จากความกังวลปัญหาการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับแรงกดดันจากการระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก 

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวลงมากกว่าคาดของอัตราเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ กลับส่งผลดีต่อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาล โดยบอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 4bps สู่ระดับ 1.12%  

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัว เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวในกรอบใกล้ระดับ 90.4 จุด 

สำหรับวันนี้ ประเด็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นที่จับตามองของตลาดต่อเนื่อง หลังจากที่ประธานเฟด มองว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงต้องใช้เวลานาน กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่ง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมีความจำเป็นอยู่

โดย ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ซึ่งคาดว่า จะลดลงจากรายงานครั้งก่อน สู่ระดับ 7.5 แสนราย ซึ่งการลดลงต่อเนื่องของยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานก็มีโอกาสลดลงเหลือ 5% จากระดับปัจจุบันที่ 6.7% ได้ในปีนี้  

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับ การติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนรอบโลก ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นส่วนใหญ่จะรอติดตาม การเข้าซื้อ/ขายวันแรกของ หุ้น OR ซึ่งอาจดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง แต่อาจจะต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรที่อาจเกิดขึ้น หากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเหนือราคาจอง IPO ไปมาก

ในส่วนค่าเงินบาท เราประเมินว่า ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ โดยในช่วงนี้ เงินบาทก็จะไม่แข็งค่าไปมาก หรือ อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ฝั่งผู้ส่งออกรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ช่วง 30.10 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ  ทำให้ จะเหลือเพียงปัจจัย ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดทุน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง

ซึ่งในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการประมูลบอนด์ 10ปี ที่อาจมีความต้องการจากนักลงทุนต่างชาติพอสมควรและหนุนให้เงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ บวก-ลบ 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน  เช่น ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง พร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven) เป็นต้น  ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.88-29.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง