รู้ก่อนดื่ม! "น้ำแร่" คุณประโยชน์ล้น แต่คนบางกลุ่มไม่ควรดื่ม
จากกรณีที่มีข่าวดังไปทั่วประเทศ เมื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบแหล่ง "น้ำแร่โซดา" ที่บ้านทุ่งคูณ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ รสชาติหวาน ซ่า คล้ายโซดา ก่อนนำไปตรวจสอบพบว่า ไม่มีสารพิษปนเปื้อน แต่มีแร่ธาตุหลายชนิดมากกว่าน้ำแร่ที่ผลิตจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ จึงได้ผลิตออกแจกจ่ายให้ประชาชนดื่มฟรี
เรามาทำความรู้จัก "น้ำแร่" ให้มากขึ้นกันดีกว่า...
เภสัชกรหญิง ดารวี ศิริพรหม ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำแร่ไว้ ดังนี้
ในปัจจุบันนี้มีความสนใจในเรื่องน้ำแร่ชนิดต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ “น้ำแร่พลังแม่เหล็ก” แต่เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาเท่าที่รวบรวมได้ยังมีน้อยและไม่ชัดเจน จึงขอกล่าวถึงน้ำแร่ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งอาจมีหลายยี่ห้อหลายรูปแบบ แต่ก่อนที่คุณจะเลือกซื้อมาบริโภคนั้น อยากให้ได้รับข้อมูลที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการเลือกบริโภคน้ำแร่ โดยจะนำเสนอประเภทของน้ำแร่ที่แยกตามผลที่มีต่อร่างกายและฤทธิ์ในการบำบัดโรคเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภทน้ำแร่
รู้จักชนิดของน้ำแร้..มีสรรคุณอะไรบ้าง?
น้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate water)
มีปริมาณไบคาร์บอเนต> 600 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยปรับให้สารคัดหลั่งที่มีฤทธิ์เป็นกรดกลายเป็นกลาง, กระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น, กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร, ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเหลือแร่ให้แก่ร่างกาย จึงควรดื่มน้ำแร่นี้ 500-700 มิลลิลิตร ก่อนออกกำลังกายหรือทำงานที่ต้องเสียเหงื่อ เนื่องจากจะช่วยในการลดภาวะเลือดเป็นกรด
ตัวอย่างของน้ำแร่ชนิดนี้ ได้แก่ น้ำแร่ยี่ห้อ Volvic, Fiji, Snowy mountain เป็นต้น
น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate water)
มีปริมาณ ซัลเฟต > 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะในคนที่ท้องผู้กเรื้อรัง เนื่องจาก น้ำแร่ซัลเฟต มีผลแรงดันออสโมติคและ ช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนซีซีเค (CCK) เนื่องจากซัลเฟตมีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ
ตัวอย่างของน้ำแร่ชนิดนี้ได้แก่ น้ำแร่ยี่ห้อ Pi water เป็นต้น
น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters)
ใช้รักษาภาวะที่การทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติ, นิ่วในถุงน้ำดี, อาการหลังผ่าตัดถุงน้ำดี
น้ำแร่ซัลเฟอร์, เกลือ-ไอโอดีน, เกลือ-โบรมีน-ไอโอดีน (Sulfurous, salt-iodine, salt-bromine-iodine waters)
มักใช้กับอวัยวะภายนอกร่างกาย เช่น การอาบ หรืออาจใช้ สูดพ่นทางทางเดินหายใจบ้าง บรรเทาอาการอักเสบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง และบรรเทาอาการทางผิวหนังบางชนิด
น้ำแร่ซัลเฟอร์และไบคาร์บอเนต (Sulfurous and bicarbonate waters)
ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยจะลดระดับน้ำตาล อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และช่วยลดความต้องการอินซูลิน นอกจากนี้น้ำแร่ไบคาร์บอเนต ยังช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวานได้
น้ำแร่คลอรีน (น้ำเกลือ) (Chlorinated water (salt water)
มีปริมาณคลอไรด์ > 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอิเล็กโตรไลท์, กระตุ้นการหลั่งน้ำดี, บรรเทาอาการท้องผูก
น้ำแร่แคลเซียม (calcium water)
มีปริมาณแคลเซียม > 150 มิลลิกรัมต่อลิตร น้ำแร่ที่มีแคลเซียมในปริมณมากเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความต้องการแคลเซียมในปริมาณมากกว่าคนปกติ เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ สตรีสัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุ และจากการวิจัยไม่นานมานี้ พบว่า แคลเซียมอาจช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
ตัวอย่างของน้ำแร่ชนิดนี้ได้แก่ น้ำแร่ยี่ห้อ Evian, Badoit เป็นต้น
น้ำแร่แมกนีเซียม (Magnesium water)
มีปริมาณแมกนีเซียม > 50 มิลลิกรัมต่อลิตร การมีแมกนีเซียมในน้ำแร่สูงจะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี เนื่องจากมีผลในการทำให้ Oddi sphincter คลายตัว
น้ำแร่ฟลูออเรด (Fluorate water)
มีปริมาณฟลูออไรด์ > 1 มิลลิกรัมต่อลิตร
น้ำแร่เหล็ก (Ferrous water)
มีปริมาณเหล็กเฟอรัส > 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยบรรเทาอาการในภาวะโลหิตจากที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก และใช้ในภาวะไฮโปธัยรอยด์
น้ำแร่โซเดียม (Sodium water)
ปริมาณ โซเดียม > 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
น้ำแร่เกลือต่ำ (Low-salt water)
ปริมาณ โซเดียม < 20 มิลลิกรัมต่อลิตร
น้ำแร่คาร์บอร์นิค (Carbonic waters)
มักใช้ในการอาบ และบรรเทาอาการของหลอดเลือดส่วนปลาย
เปิดวิธีดื่มน้ำแร่อย่างถูกต้อง ตามหลักทางโภชนาการ
วิธีดื่มน้ำแร่สามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ
1.การดื่มน้ำแร่ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ (Water loading) คือ การดื่มน้ำปริมาณ 1 ลิตร ภายใน 30 นาที ขณะท้องว่าง ซึ่งการดื่มน้ำแร่วิธีนี้จะใช้กับน้ำแร่ชนิดที่หวังผล เช่น เพื่อขับนิ่วออกจากร่างกาย วิธีนี้ไม่ควรดื่มก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้ต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำในช่วงกลางคืน
2.การดื่มแบบทยอยในปริมาณไม่สูง (Subdivided doses) คือ การดื่มน้ำแร่ปริมาณ 500 มิลลิลิตร และ ตามด้วยน้ำแร่ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยจิบน้ำครั้งละน้อยขณะอ่อนเพลีย หรือขณะเดิน หรือพร้อมมื้ออาหาร
นักกีฬาควรดื่มน้ำแร่แค่ไหน?
สำหรับนักกีฬา ควรดื่มน้ำแร่ที่มีปริมาณเกลือแร่น้อยถึงปานกลาง ตลอด 2 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน โดยดื่ม 100-150 มิลลิลิตร ทุก 15-20 นาที และดื่ม 400-500 มิลลิลิตร 15 นาทีสุดท้ายของชั่วโมงที่ 2 หลังการอบอุ่นร่างกาย ระหว่างการแข่งขัน ควรดื่ม 200-250 มิลลิลิตร ทุก 15-20 นาที โดยปริมาณของเหลวที่ดื่มเข้าร่างกายหลังแข่งขันหรือเล่นกีฬานั้น ควรมีปริมาณร้อยละ 150 ของน้ำหนักตัว ซึ่งปริมาณของเหลวที่บริโภคโดยทั่วไป คือ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากน้ำแร่ หากดื่มไปโดยไม่ระวังอาจเป็นผลเสียต่อร่างกายได้ แล้วใครกัน...ที่ไม่ควรดื่มน้ำแร่?
รู้จักน้ำแร่ 6 ชนิด คนกลุ่มไหนไม่ควรดื่ม?
น้ำแร่ : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ที่บวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี
น้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมสูง : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
น้ำแร่เกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride waters) : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก แผลในกระเพาะอาหารและความดันโลหิตสูง
น้ำแร่ซัลเฟอร์ (Sulfurous waters) : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง
น้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate waters) : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะ gastric hypochilia
น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate waters) : ผู้ที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและมีแผลในทางเดินอาหาร
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพโดย Pixabay