รีเซต

ตุรกีทดสอบยิงจรวดความเร็วเสียงด้วยโดรนกลางอากาศ โดนเป้าห่างจากจุดยิง 155 กิโลเมตร ได้สำเร็จ

ตุรกีทดสอบยิงจรวดความเร็วเสียงด้วยโดรนกลางอากาศ โดนเป้าห่างจากจุดยิง 155 กิโลเมตร ได้สำเร็จ
TNN ช่อง16
2 ธันวาคม 2567 ( 14:52 )
12

บัยคาร์ (Baykar) ผู้ผลิตอากาศยานทางการทหารและอาวุธ ร่วมกับ โรเก็ตซาน (Roketsan) ผู้ผลิตจรวดและขีปนาวุธจากตุรกี ประกาศความสำเร็จในการทดสอบปล่อยจรวดความเร็วเสียงจากโดรนที่บินอยู่กลางอากาศ เพื่อยิงเป้าหมายซึ่งห่างออกไป 155 กิโลเมตร 


รายละเอียดระบบโดรนปล่อยจรวดจากตุรกี

โครงการดังกล่าวเป็นการนำระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธของบัยคาร์ (Baykar) รุ่น บายรัคตาร์ อาคินซี (Bayraktar Akinci) มาติดตั้งกับระบบจรวดความเร็วเสียงนำวิถี รุ่น ยูเอวี ทูเทอร์ตี้ (UAV-230) ของโรเก็ตซาน (Roketsan) เพื่อพัฒนาเป็นระบบปล่อยจรวดแบบอากาศสู่พื้น (Air-to-surface ballistic supersonic missile) 


พื้นฐานของโดรน

บายรัคตาร์ อาคินซี (Bayraktar Akinci) เป็นโดรนติดอาวุธ (Unmanned Combat Areial Vehicle: UCAV) ที่มีความยาว 12.3 เมตร ปีกกว้าง (Wingspan) 20 เมตร สูง 4.1 เมตรรองรับการติดตั้งอาวุธที่หนักไม่เกิน 1,500 กิโลกรัม และมีน้ำหนักขึ้นบินสูงสุดที่ 6,000 กิโลกรัม 


ตัวโดรนขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ตแบบเทอร์โบพรอป (Turboprop engine) จำนวน 2 ตัว กำลังสูงสุดตัวละ 850 แรงม้า ในรุ่นย่อย Akinci - C ความเร็วการบิน (Cruise speed) 150 KTAS (Knot True Air Speed) หรือ 278 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะการบิน (Operatinal range) 6,000 กิโลเมตร ระยะเวลาการบินต่อเนื่อง (Endurance) 24 ชั่วโมง ที่เพดานความสูงการบิน (Operatinal Altitude) อยู่ที่ 30,000 ฟุต หรือ 9,140 เมตร 


พื้นฐานของจรวด

ในขณะที่จรวดความเร็วเสียงนำวิถี รุ่น ยูเอวี ทูเทอร์ตี้ (UAV-230) หรืออีกชื่อหนึ่งคือไอเอชเอ ทูเทอร์ตี้ (IHA-230) เป็นจรวดแบบเชื้อเพลิงแข็งผสม (Composite Solid Propellant) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 230 มิลลิเมตร ความยาว 3.4 เมตร มีน้ำหนักของจรวดรวม 225 กิโลกรัม น้ำหนักหัวรบ 42 กิโลกรัม ซึ่งเป็นแบบเจาะเกราะแบบไม่กระจายตัว (Frangible Impact) 


ตัวจรวดเดินทางในย่านความเร็วเสียง (Supersonic speed) หรือประมาณ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นำวิถีด้วยดาวเทียมแบบระบุเป้าหมายยึดโยงกับตำแหน่งสถานที่ (Go-Onto-Location-In-Space: GOLIS) ที่รองรับการระบุเป้าหมายสุดท้ายด้วยเลเซอร์ ซึ่งมีระบบต่อต้านการกวนสัญญาณ (Anti-Jamming) และอ้างว่ามีความคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งที่ต้องการยิงไม่เกิน 10 เมตร 


การทดสอบโดรนปล่อยจรวดจากตุรกี

ทั้งสองบริษัทได้เผยแพร่วิดีโอการทดสอบซึ่งเป็นภาพการทำงานของโดรนที่บินทรงตัวเหนือท้องฟ้าและกลุ่มเมฆ ก่อนปล่อยทิ้งจรวด UAV-230 จากแท่นล็อก ซึ่งเมื่อปล่อยจรวดออกจากแท่นได้แล้ว ตัวจรวดก็จุดระเบิดและพุ่งตัวออกไปยังเป้าหมาย และหลังจากนั้นตัวจรวดได้พุ่งชนเป้าหมายซึ่งห่างจากจุดปล่อย 155 กิโลเมตร อย่างแม่นยำ


ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการยกระดับยุทธวิถีการรบภาคสนามของกองทัพตุรกีและกองทัพที่มีระบบดังกล่าวใช้งานในหลายประเทศ รวมถึงปากีสถาน เนื่องจากตัวโดรนสามารถบินเข้าไปในระยะการทำลายของจรวดได้โดยเลี่ยงการตรวจจับจากฝ่ายตรงข้าม ก่อนปล่อยจรวดซึ่งมีพื้นฐานในการใช้ทำลายเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ได้หลายประเภท เช่น ระบบเรดาร์ ระบบต่อต้านอากาศยาน ไปจนถึงยานพาหนะหุ้มเกราะและสถานที่ อาคารต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน




ข้อมูล Army Recognition, Baykar, Roketsan

ภาพ Baykar

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง