“ลิงเก็บมะพร้าว” ต้องฝึกกันด้วย “ความรัก” ไม่ใช่ “ความโหดร้าย”
กระแสร้อนข้ามโลกเมื่อองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ พีต้า (PETA) ออกมาเรียกร้องไม่สนับสนุนการซื้อสินค้าที่ทำจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทย เนื่องจากมีการทรมานสัตว์ ด้วยการใช้ "ลิง" เก็บมะพร้าว วันนี้ TrueID News ได้รวบรวมข้อมูลถึงขั้นตอนการฝึกลิงให้สามารถเก็บมะพร้าวได้ โดยต้องเข้าฝึกตามระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล จนถึง ระดับอุดมศึกษา กว่าจะได้ "ลิง" สักตัวที่สื่อสารกับ "คน" ได้อย่างเข้าใจในการทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ...
“อยากดูปลาต้องให้น้ำใส อยากสอนให้สัตว์มีสมาธิ ปัญญา มีสติ ต้องให้จิตเขาสงบเสียก่อนแล้วจึงจะสอน”
คำกล่าวเริ่มต้นจากท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ ลุงสมพร แซ่โค้ว ใช้เป็นแนวทางสำหรับการก่อตั้ง "โรงเรียนฝึกลิง จังหวัดสุราษฎร์ธานี" ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 เพื่อฝึกสอนลิงให้สามารถเข้าใจคำสั่งในการเก็บมะพร้าว และจนถึงปัจจุบันโรงเรียนฝึกลิงแห่งนี้ อายุล่วงเข้า 63 ปี ก็ยังมีหน้าที่ฝึกสอนลิงให้ช่วยคนเก็บมะพร้าวบนต้นที่สูงมากเกินกว่าที่คนจะเสี่ยงปีนขึ้นไป และสูงเกินกว่าจะใช้บันไดไม้ไผ่ต่อขึ้นไปเก็บ
แม้ว่า คุณลุงสมพร จะไม่ได้อยู่บนโลกเพื่อฝึกลิงแล้วก็ตาม แต่วันนี้ยังมี “คุณพี่สมใจ แซ่โค้ว” ผู้เป็นบุตรสาวรับบทบาท “ครูใหญ่” ฝึกลิงต่อไป ภายใต้แนวทางดั้งเดิม ฝึกลิงด้วย “ความรัก” ไม่ใช้กำลังด้วย "ความโหดร้าย" เพื่อประโยชน์ในการช่วยทำงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นการฝึกเพื่อไปใช้ในการแสดงละครสัตว์แต่อย่างใด
จะว่าไปแล้วการใช้ “ลิง” เก็บผลไม้ มีบันทึกเอาไว้ตั้งแต่สมัยอียิปต์ ในสุสานของ Besi Hassan ผู้ปกครองในยุคราชวงศ์ที่ 12 แห่งยุคอียิปต์โบราณ อยู่บนภาพฝาผนังในสุสสาน ซึ่งในบทความของ E. W. Gudger พูดถึงว่า มีการฝึกลิงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลมะเดื่อ ก่อนที่จะมีการฝึกลิงเพื่อใช้เก็บมะพร้าวในยุคต่อมา
เรื่องราว “ลิงเก็บมะพร้าว” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มีมานานมากแล้ว ทีนี้มาดูว่า กว่าจะเก็บมะพร้าวได้ ลิงต้องเข้าโรงเรียน ตามหลักสูตรอย่างไรบ้าง จากข้อมูลงานวิจัยในวารสารปาริชาติ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เรื่อง “คนสอนลิง คนสอนคน” โดย สุนันท์ อินทนิล (2543) บอกไว้ว่า การฝึกลิงมีถึง 4 ระดับชั้นเรียนด้วยกัน ประกอบด้วย
- ระดับอนุบาล
ตามแนวทางการฝึกลิงของลุงสมพร บอกไว้ว่า ลิงจะต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ใครเอาลิงน้อยกว่า 1 ปีมาเข้าฝึก แกจะไล่ไปปล่อยป่า โดยไม่รับฝึก เพราะถือว่ายังไร้เดียงสา ไม่รู้จักสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่า วัยที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่อแรกเข้าจะฝึกให้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมสีน้ำตาลแทนสีเขียวจากป่า โดยจะจัดสถานที่ฝึกเป็นก้านมะพร้าวแห้ง ลูกมะพร้าวแห้ง หญ้าแห้งและใบมะพร้าวแห้ง ให้ลิงคุ้นชินกับสภาพเช่นนี้ จากนั้นครูฝึกจะตีสนิทไปเรื่อยๆ จนใกล้ชิดได้ และเริ่มเก็บมะพร้าวหมุนมะพร้าวแห้งที่เจาะใส่รางเพื่อเป็นสื่อการสอนให้ดู เป็นการฝึกสายตา ฝึกให้จำ เมื่อเริ่มเข้าใกล้ได้ต่อไปเริ่มฝึกให้ตำคำสั่ง เริ่มหมุนมะพร้าวให้ดู แต่ถ้าลิงไม่ทำตาม ก็เป็นหน้าที่ครูต้องทำเอง หมุนจนกว่าเขาจะอยากทำตาม แต่ช่วงแรกนี้ยังต้องใช้โซ่เหล็กล่าม เพื่อป้องกันการหนี แต่หากใช้เชือกล่ามไว้ ก็ไม่วายถูกกัดขาด เผ่นหนีเข้าป่าตามระเบียบ เพราะกว่าจะตั้งใจทำตาม ก็ต้องใช้เวลา แต่จะไม่มีการเฆี่ยนตีแต่อย่างใด เรียกว่า “ถ้าน้องไม่ทำ พี่ทำเอง” ทำให้ดูจนกว่า น้องจะทำตาม ระดับอนุบาลใช้เวลาสักประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มทำเป็น เมื่อประเมินผลผ่าน ก็จะเลื่อนขั้นต่อไป
- ระดับประถม
ช่วงแรกๆ ของการขึ้นชั้นประถม เจ้าลิงน้อย ยังต้องถูกล่าด้วยโซ่เหล็กก่อนเพื่อไม่ให้เตลิด ช่วงนี้จะเริ่มหลักสูตรการหมุนมะพร้าวแห้งในสถานการณ์ต่างๆ ที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุดจนคล่องควบคู่ไปกับคำสั่งกระตุกเชือกส่งสัญญาณจนเกิดความุค้นชิน จากนั้นจะขยับไปสู่การฝึกแก้ไขปัญหาเชือกพันกับสิ่งต่างๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ จนมั่นใจว่าสามารถเอาตัวรอดได้ จากนั้นจะเริ่มสู่การฝึกจริงบนต้นมะพร้าว ฝึกเก็บมะพร้าวที่สุกจนคล่อง ขยับไปเก็บมะพร้าวมารวมเป็นกอง เก็บใส่กระสอบ เก็บขึ้นรถ จนถึงฝึกช่วยคอนช่วยหามมะพร้าวผ่อนแรงเจ้าของได้ ถ้าทำถึงขั้นนี้ได้ถือว่า สำเร็จหลักสูตรระดับประถม เจ้าของสามารถมารับกลับไปช่วยงานได้
- ระดับมัธยม
ถ้าจะเข้าเรียนระดับนี้ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี เพราะจะเป็นการฝึกในระดับสูงขึ้น ตั้งแต่การแก้เชือกด้วยตัวเองเมื่อเชือกพันกันบนต้นมะพร้าว มีหลักสูตรห้อยตัวหรือโยนตัวระหว่างต้นมะพร้าวเพื่อประหยัดเวลาปีนขึ้นปีนลง และที่เห็นว่าลิงซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเจ้าของออกไปในสวน ก็ฝึกในช่วงของการเรียนในระดับนี้ โดยเน้นการทรงตัวและนั่งนิ่งๆบนรถ ไม่กระโดดจนทำให้เกิดอันตรายแขนขาหักเพราะไปขัดกับล้อรถจักรยานยนต์ได้และบางตัวยังสามารถฝึกไปถึงการช่วยเก็บเครื่องมือ ช่วยเก็บของให้ได้อีกด้วย แต่ด้วยการฝึกที่ยาวนาน เมื่อสำเร็จหลักสูตรแล้ว เจ้าของยังต้องมาฝึกร่วมเพื่อสร้างความคุ้นเคยอีกครั้งเพราะห่างกันมานาน ก่อนจะรับกลับไปทำงานด้วยกันอีกครั้ง
- ระดับอุดมศึกษา
การฝึกระดับนี้ จะเน้นไปที่การเก็บผลไม้ชนิดอื่นที่มีวิธีเก็บที่แตกต่างออกไป เช่น มะละกอ ส้มโอ หมาก ฝึกหักยอดไม้ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก เป็นต้น อีกทั้งยังมีการสอนให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นพิษขณะที่ไปทำงาน หรือการฝึกไม่ให้กินผลไม้ที่เก็บระหว่างทำงานด้วย เพราะอาจเป็นผลไม้ที่ฉีดยาฆ่าแมลง หรืออาจทำให้ผลไม้นั้นเสียหายได้ ขั้นตอนการฝึกในแบบนี้จึงเป็นการฝึกเฉพาะที่นอกเหนือจากการเก็บมะพร้าว
นอกจากนี้ ในการเป็นครูฝึกลิง ลุงสมพร ยังบอกเอาไว้ว่า ฝึกลิงก็ต้องเตรียมลิงให้พร้อม จะสอนคน คนก็ต้องพร้อมทางด้านสุขภาพร่างกาย ส่วนครูผู้สอนก็ต้องเป็นครูด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบ ใช้ความรัก ความเมตตา มากกว่าใช้กำลังและอารมณ์แทนการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี และยังทิ้งคำคมเอาไว้ว่า “คนพูดกันรู้เรื่อง สื่อสารกันได้ง่ายกว่าสอนลิง สอนลิงให้เก่งโดยไม่ต้องทำโทษได้ ทำไมจะสอนคนให้เก่งโดยไม่ต้องทำโทษไม่ได้”
สำหรับการฝึกลิงเพื่อการเกษตรในปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ในนาม “วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี” และยังคงเน้นไปที่ “ลิงกัง” ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้มีลิงไว้ในครอบครอง ยกเว้นการอนุญาตมีไว้ในครอบครองใช้เพื่อเก็บจากมะพร้าวจึงจะได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของลิง โดยลิงจะถูกขึ้นทะเบียน มีการฝังไมโครชิพติดตามตัวลิง และผู้ครอบครองลิงจะต้องเป็นที่รู้จักและมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องอีกด้วย
ไม่ใช่จะมี “ลิงเก็บมะพร้าว” เอาไว้เลี้ยงกันได้ง่าย ๆ และก็ไม่ง่ายที่จะฝึก “ลิง” ให้ “เก็บมะพร้าว” เป็นเช่นกัน
เพราะอย่างที่ “ลุงสมพร” บอกเอาไว้ตั้งแต่แกมีชีวิตว่า “ฝึกลิงด้วยความรัก ไม่ใช่เฆี่ยนตี”.
ข้อมูลจาก : วารสารปาริชาติ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 , https://naturalhistorymag.com/