รีเซต

“UFO-มนุษย์ต่างดาว” สิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ยังรอการค้นหา

“UFO-มนุษย์ต่างดาว”  สิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ยังรอการค้นหา
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2566 ( 11:36 )
150

“UFO-มนุษย์ต่างดาว”

สิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ยังรอการค้นหา


แม้ว่าองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา ยืนยันว่ายังไม่พบเหตุการณ์ใดบนโลกเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือ “ยูเอฟโอ” (UFO) แต่นาซาได้ให้ความสำคัญและตั้งเป้าศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น ขณะที่ ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อมูลจุดพบยูเอฟโอในหลายพื้นที่ของโลก ระหว่างปี 2539-2567 โดยแผนที่ชี้จุดที่พบเห็นยูเอฟโอมากที่สุดในโลกอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และหลายพื้นที่ในตะวันออกกลาง


“คณะกรรมการยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า “สิ่งมีชีวิตนอกโลก” นั้น อาจจะมีอยู่จริง และยังคงรอคอยการค้นหาอยู่ และแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวในชั้นบรรยากาศของเราได้เร็วๆ นี้ แต่เราสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งดาวเทียม กล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ที่อาจจะค้นพบชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์หินที่โคจรอยู่ในระยะห่างที่พอเหมาะที่โคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ นอกเหนือจากดวงอาทิตย์ของเราได้ในอนาคตอันใกล้นี้”



บทสรุปที่ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.นำมาจากรายงานของคณะกรรมการศึกษา “UAP - Unidentified Anomalous Phenomena” หรือ ที่เคยรู้จักกันในนาม “UFO” ซึ่ง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) นำมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.2566) โดย นาซา ระบุว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ใด ที่ยืนยันได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากต่างดาว แต่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และตั้งเป้าว่าเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต

เรื่องของ “UFO” (Unidentified Flying Object) ซึ่ง แปลตรงตัวว่า “วัตถุปริศนาบินได้ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้” รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่อาจจะมาเยือนโลกของเรา เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความสนใจอันล้นหลามนี้ก็มักจะนำมาซึ่งจินตนาการเสริมแต่ง จนกลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดอย่างมากมาย และความกังวลการเชื่อมโยงต่อทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้เอง จึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีผู้ที่จะตั้งใจศึกษาปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ



แต่ในบางครั้งการขาดแคลนการศึกษาอย่างเป็นระบบนี้เอง ยิ่งทำให้เกิดการตีความผิดกันไป หรือเกิดความวิตกเพิ่มมากขึ้น จากการรับรู้แหล่งข้อมูลที่ไม่สามารถยืนยันได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ เจมี มอสซัน (Jaime Maussan)ผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยูเอฟโอ” ออกมาเปิดเผย “ซากของเอเลียน” ในประเทศเม็กซิโกที่มีอายุนับพันปี และมีดีเอ็นเอของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน มอสซันเพิ่งจะประกาศการค้นพบซาก “เอเลียน” ที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงมัมมี่โบราณจากนัซกาไปก่อนหน้านี้ และการที่รหัสพันธุกรรมของวัตถุๆ หนึ่งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้นั้น ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าวัตถุนั้นจะต้องมีต้นกำเนิดมาจากต่างดาวแต่อย่างใด


ด้วยเหตุนี้ นาซาจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการในการศึกษาปรากฏการณ์ปริศนาเหล่านี้ ซึ่งในขั้นแรกเริ่มจากการระบุนิยามใหม่ว่าเป็น “UAP - Unidentified Anomalous Phenomena” หรือ “ปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่ยังไม่สามารถอธิบายได้” เพื่อพยายามจะลดอคติที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้นักบินหรือนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปกล้าที่จะออกมารายงานหรือศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งระบุแนวทางในการรวบรวมข้อมูล รายงาน และศึกษาอย่างเป็นระบบในอนาคต



พร้อมกันนี้ นาซาได้เล็งเห็นว่าการทำความเข้าใจ หาคำตอบ และค้นหาคำอธิบายเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ยังไม่ทราบคำตอบ รวมไปถึงการหาสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว ไม่ว่าจะอยู่นอกโลก หรืออาจจะอยู่ในชั้นบรรยากาศของเรา ต่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่สำคัญของนาซาด้วยกันทั้งสิ้น และไม่ควรที่จะเพิกเฉยและปล่อยให้เกิดการตีความกันโดยปราศจากการชี้นำโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาอย่างเป็นระบบ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องในการเก็บข้อมูลและหาคำอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้

คณะกรรมการได้นำปรากฏการณ์ UAP ในอดีตที่เคยบันทึกได้มาศึกษา แต่ก็ยังไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ยืนยันได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากนอกโลกของเรา (หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่เคยยืนยันได้ว่าจานบิน หรือมนุษย์ต่างดาวเคยมายืนบนโลกของเรา) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการก็ยังยืนยันอีกว่า มีเหตุการณ์ UAP อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด และยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นการตอกย้ำความสำคัญที่จะต้องมีการรายงานและศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การค้นพบปรากฏการณ์สำคัญที่เรายังไม่รู้จักต่อไปในอนาคต 



ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยอิสระ 16 คน ได้แบ่งปันข้อมูลและรายงานของพยานที่มีอยู่กว่า 800 เหตุการณ์ที่เก็บมานานกว่า 27 ปี เพื่อหาข้อสรุปว่า ยูเอฟโอ หรือ ยูเอพี มีอยู่จริงหรือไม่ และเรียกร้องให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่ เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.2566) นาซาได้แต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคนใหม่ เพื่อวิจัยเกี่ยวกับยูเอฟโอ หลังจากผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้นาซา เพิ่มความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูล และแสดงบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการตรวจจับสิ่งเหล่านี้



อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า รายงานที่เปิดเผยของนาซาในครั้งนี้ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงส่วนสำคัญที่มีอยู่ แต่อาจมีส่วนผลักดันให้นาซาเริ่มต้นภารกิจใหม่ โดยแนวทางการสอบสวนและวิจัยของนาซา ดำเนินการแยกต่างหาก จากการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม หรือ เพนตากอน แต่มีการประสานกันในเรื่องที่ต้องใช้เครื่องมือ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาและพิสูจน์ความมีอยู่ของยูเอฟโอ ซึ่ง ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เปิดเผยเอกสารใหม่ เรื่อง จุดพบยูเอฟโอในหลายพื้นที่ของโลก ระหว่างปี 2539-2567 โดยแผนที่ชี้จุดที่พบเห็นยูเอฟโอมากที่สุดในโลก คือ เมืองนางาซากิ และ เมืองฮิโรชิมา ในญี่ปุ่น ตลอดจนชายฝั่งตะวันออก และชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ รวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย และหลายพื้นที่ในตะวันออกกลาง


นอกจากนี้ การเปิดเผยรายงานของนาซามีขึ้น หลังจากก่อนหน้านั้น 1 วัน รัฐสภาเม็กซิโก ได้นำซากชิ้นส่วนร่างกาย หรือ มัมมี่ ที่ระบุว่าไม่ใช่มนุษย์จำนวน 2 ร่าง นำออกมาแสดงระหว่างการอภิปรายสอบสวนแบบเปิดต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก โดยเป็นกระบวนการไต่สวนของรัฐสภาของเม็กซิโกเกี่ยวกับยูเอฟโอ โดยซากร่างกายดังกล่าว ถูกค้นพบในเปรู เมื่อปี 2560 อายุ 700 ปี และ 1,800 ปี โดยแขนแต่ละข้างของร่างมัมมี่ทั้ง 2 ร่าง มีนิ้วเพียง 3 นิ้ว และส่วนของศีรษะยืดและยาวไปด้านหลัง ทั้งนี้ กระบวนการสอบสวนหาความจริง มีจุดประสงค์เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกฎหมายคุ้มครองอวกาศของเม็กซิโก ซึ่ง หากผ่านกระบวนการอนุมัติจากรัฐสภา จะทำให้เม็กซิโก เป็นประเทศแรกในโลก ที่ให้การยอมรับการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวบนโลก ขณะที่ เจมี มอสซัน นักวิจัยชาวเม็กซิโกที่ศึกษาเรื่องนี้ ยืนยันว่า ทีมนักวิจัยสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าดีเอ็นเอ ของซากมัมมี่ดังกล่าวไม่ได้เป็นดีเอ็นเอของมนุษย์



ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต


 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง